Book Review : ชีวิตนี้ ฟ้าลิขิต | คณิตว่าด้วยการสุ่มเลือก...ของฟ้า


หนังสือคณิตศาสตร์ดีๆ ที่สนุกสนานอีกเล่ม หนังสือเล่มนี้ได้มาเมื่อปี 2548 เพราะคำโปรย..
ที่บอกว่า "การสุ่มเลือกบัญชาทุกแง่มุมในชีวิตมนุษย์"

นี่ละหนา...อาจารย์จิตวิทยาของผม (รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต)  จึงมักจะบอกว่า

"คนทำ ฟ้าลิขิต" เสมอ...ทั้งที่อาจารย์เป็นสายปรับพฤติกรรมของสกินเนอร์แท้ๆ

สำหรับเราหนังสือเรื่องนี้มันคือ "งานหลัก" ของเราแหละ เพราะฉะนั้นจะมี Bias มากหน่อย

เนื้อหาในส่วนที่อ่านมาได้

มันคือหนังสือประวัติศาสตร์! ผู้เขียนพาเราย้อนไปสู่ก่อนยุคมืดที่การค้นคว้า
และเรียบเรียงความรู้เป็นไปได้โดยลำบาก นักวิชาการตัวพ่อแต่ละคนล้วนแต่มีประวัติน่าสนใจ
น้อยคนมากที่จะไม่มีเหตุการณ์สลดเกิดขึ้น
คุณจะได้ทราบถึงประวัติในการคิดค้นทฤษฎีต่างๆ ของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 10 บท
แยกเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 2 ภาคใหญ่ๆ คือ

ภาค 1 

บทที่ 1 เป็นเกริ่นนำ เรื่อง "โอกาสการเกิด" ของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้

บทที่ 2 - บทที่ 6 เป็นช่วงที่ว่าด้วย "ความน่าจะเป็น"
ยอดนักคิดที่สร้างเครื่องมือเพื่อให้คนรุ่นหลังมีวิธีการคิดที่เป็นระบบ
วิธีการขบคิดถึง สถานการณ์ที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น
หากเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ทั้งแบบที่มีเงื่อนไขและไม่มีเงื่อนไข
การคำนวณโอกาสของการเกิดสถานการณ์ต่างๆ
จบสวยๆ ที่สามเหลี่ยมปาสคาล
(ทฤษฎีบททองคำ แคลคูลัส ไม่ค่อยสวยละ ผ่าน! LOL)

ตลกร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันและประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว
(ข้อมูลแน่นมากมาย)

อ่านแล้วก็ให้หัวเราะ และมีความหวังเล็กๆ ว่า

อย่ายอมแพ้! 
แม้จะมีความน่าจะเป็นเพียง 1/10^10 ที่จะชนะ
หรือเป็นตกเป็นฝ่ายตามแค่ไหน ด้วยฝีมือและความพยายาม
คุณสามารถที่จะเอาชนะผู้ที่เหมือนจะมีโอกาสมากกว่าได้

ภาคนี้สอนให้รู้ว่า "โอกาส ถึงแม้จะมีน้อยนิด แต่มันก็มี" 

ภาค 2 

บทที่ 7  ก้าวเข้าสู่ดินแดนแห่งสถิติ ชอบคำอธิบายความแตกต่างระหว่าง
"ความน่าจะเป็น" และ "สถิติ" ว่า
"ความน่าจะเป็น" คือการพยากรณ์บนรากฐานของความเป็นไปได้คงที่
"สถิติ" คือการสรุปผลความเป็นไปได้จากข้อมูลที่สังเกตการณ์แล้ว

ผู้เขียนเป็นคนอธิบายเรื่องราวต่างๆ ได้ "เห็นภาพ" มาก

ไล่ตั้งแต่ต้นกำเนิดของการเก็บรวบรวม "ข้อมูล"
การทำบัญชี สถิติ แบบแผนของข้อมูลที่ค้นพบ
การสุ่ม และความคลาดเคลื่อนในการวัด

ไม่มีการวัดครั้งใดที่ไม่มีความคลาดเคลื่อน ถ้าคุณวัดซ้ำ !

กำเนิดโค้งปกติ แบบแผนที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ (มันถึงถูกเรียกว่า โค้งปกติ)
Central limit theorem การถดถอยเข้าสู่ส่วนกลาง
พร้อมยกตัวอย่างที่มีสีสัน เข้าใจง่าย เช่น ทำไมคนสวยมากๆ ถึงมีลูกสวยน้อยกว่า
หรือคนฉลาดเข้าขั้นอัจฉริยะ ไม่ควรคาดหวังว่าจะมีลูกเป็นอัจฉริยะยิ่งกว่าตัวเอง
ทำไมมนุษย์ถึงมีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ขีดจำกัดบน 2 เมตร ฯลฯ
และกำเนิดค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (ที่ไม่ใช่ของเพียร์สัน) และผลงานการทดสอบไคสแควร์ ของเพียร์สัน 555

บทที่ 8-9 จะพาออกนอกเขตแดนคณิตศาสตร์มาเป็นการประยุกต์ใช้ในศาสตร์ต่างๆ ทั้งจิตวิทยา สังคมศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา ฯลฯ ... แบบแผนชุลมุนหรือ Chaos Theory ส่งผลกระทบกับพวกเราอย่างไรและ  butterfly effect คือ?

บทที่ 9 มายาในรูปแบบ ว่าด้วย "illusion" (ชอบคำนี้มากกว่าคำไทย) ... คนเราหลอกตัวเองอย่างเป็นระะบบเสมอ lol โดยหาหลักฐานต่างๆ มาสนับสนุนข้อสรุปของตัวเอง การทดสอบนัยสำคัญทางสถิติเกี่ยวข้องและช่วยลดอคติของมนุษย์ ณ จุดนี้ อย่างไร?

บทที่ 10 เป็นบทจบ "วิถีขี้เมา" ซึ่งกระทบกระเทียบคนเราเล็กๆ ว่า...ทำไมคนเรามักจะมารู้สึก "อ๋อ" เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว... ทำไมเราทำนายอดีตได้ดีกว่าอนาคต และมันควรแล้วหรือที่เราจะเอาความสำเร็จในอดีตมาตัดสินอนาคต? ทำไมคนที่ประสบความสำเร็จถึงประสบความสำเร็จ? ทำไมหลายๆ เหตุการณ์ช่างประจวบเหมาะนัก?

น่าสนุกใช่ม้าาา ยืมอ่านได้นะคะ ^_^







ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมยังทุกข์



คัดลอกจาก Note ใน facebook มารวบรวมไว้ตรงนี้
---------------------------------------------------------------

ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมยังทุกข์ ??

November 30, 2012 at 7:40pm

ต้องรีบเขียนไว้แต่เนิ่นๆ 555 ปกติจะผัดผ่อนจนลืมไป
เอาไว้อ่านเองกะน้องเล็กขำๆ ดีกว่า--ให้กล้าด้วยยยย

---ปี 2006 เข้าปฏิบัติยาวๆ กับแม่ครั้งแรก มีผู้ชายคนนึง ไปถามพระอาจารย์ว่า ทำไงจะหายทุกข์? 
พระอาจารย์ตอบอย่างตรงที่สุดว่า "กำหนดรู้...หน้าที่ของคนต่อทุกข์คือกำหนดรู้" ไม่มีอย่างอื่น
ผู้ชายคนนั้น ท่าทางจะมาด้วยอาการอกหัก (สาเหตุประมาณ 80% ที่ทำให้คนเข้าวัด 555)
ทำหน้าไม่เข้าใจ --อย่างยิ่ง-- พี่เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จำได้แค่จากตัวหนังสือที่อ่านๆ มาเท่านั้น

--พี่เข้าวัดมาตั้งแต่เด็ก ด้วยความที่พ่อเป็นมหาเก่า ตามแม่ไปนั่งสมาธิบ้าง แต่ก็ไม่ได้อิน
และไม่ชอบนั่งสมาธิด้วย เพราะกลัวในสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น แล้วไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เพื่ออะไร?
เรื่องความรู้ทางปริยัติ จัดได้ว่าเป็นที่โปรดปรานของพระอาจารย์ทั้งหลายมาก มิต้องสงสัย
แต่...ด้วยความเป็นคนที่มีสันดานขี้สงสัย และไม่เชื่อในอะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ก่อน
อ่านหนังสือคู่มือมนุษย์ (ของท่านพุทธทาส) ทีไร รู้สึกเกลียดตัวเองทุกที เพราะทำไมชั้นเลวงี้วะ 5555
โคตรรักสนุกเลยอ่ะ ตรงข้ามกับบางคนพอสมควร แต่ก็ทำบุญบ้าง อย่าถามเรื่องปฏิบัติบูชา
เข้าปีหนึ่ง เดินไปชมรมพุทธ เฮ้ย...ไม่ใช่ละ หนูขอลาค่ะพี่
พี่เป็นคนดีเกินไปสำหรับหนู หนูอยู่ในที่แห่งนี้ไม่ได้
บ้าบอขนาดชั้นเนี่ยนะ สุดท้ายก็มุ่งมั่นกะการทำงานพิเศษ

รู้จักยุวพุทธฯ ครั้งแรกตอนลง วิชาธรรมวิทยา (ที่เพื่อนบางคนบอกว่าไม่รู้จัก
ได้ไงฟระ มันเป็นวิชาเลือก 2 จาก 4 วิชาทุกคณะ) รู้สึกว่า อ๊ะ แนวนี้ได้อยู่ แนวที่เค้าเรียกว่าสติปัฎฐาน) 
จริงๆ ก็เป็นแบบเดียวกับที่วัดมหาธาตุที่แม่เคยพาไป และพ่อเค้าสำนักนี้นั่นแหละ เลยคุ้นเคย
ชอบนะ คือ ณ จุดนั้นรู้สึกดี ทำอะไรแล้วกำหนดสติตลอด ถึงมันจะเป็นการ "เพ่ง" ก็เหอะ ไม่รู้อ่ะ
รู้แต่ไม่มีอิทธิปาฏิหารย์ ไม่เห็นนรกสวรรค์ ภพภูมิอื่นเป็นพอ กลัว แต่ก็ไม่ได้จำอะไรจริงๆ

ชีวิตก็ผ่านไปเรื่อยๆ จนเกิดความทุกข์รุมเร้า มันไม่ใช่เพราะความรักเรื่องเดียว มันหลายเรื่องจัด
เลยไปปฏิบัติธรรมที่ตัดสินใจเองครั้งแรก ปี 2003 มั้งนะ ตอนที่อยู่กับเล็กแหละ ไปตอนสงกรานต์
เข้าวันแรกก็อยากกลับละ มันร้อน 555 
แม่ชีบอกให้อดทน 3 วันเอง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ก็แค่ได้ประสบการณ์ใหม่ ก็ดีนะ คิดแค่นั้น
การปฏิบัติธรรมไม่เห็นช่วยอะไรเลย ก็ยังทุกข์อยู่ จริงๆ แล้วไม่รู้วิธีการที่ถูกต้อง แต่ด่วนไปสรุป และตีตราไปเรียบร้อยแล้ว
แค่สงบได้ชั่วคราว แต่ก็อยากไปอีกนะ ...เมื่อไรไม่รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ธรรมกายเป็นพอ

จนเกิดความทุกข์รุมเร้าหนักๆ อีก แล้วก็ใช้จิตวิทยาวิเคราะห์ก็แล้ว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ก็เลยคิดว่าคงเป็น "กรรม" แต่ไม่ชอบ ทำไมคนเราต้องยอมรับกรรม เราไม่มีวิธีแก้เหรอ??
งั้นก็ไม่ต้องทำไรแล้ว เกิดมาก็รอรับกรรมอย่างเดียว เป็นชีวิตที่ "ง่อย" ที่สุด ไม่ใช่่อ่ะ!! 

มันเป็นธรรมจัดสรรมั้ง อยู่ๆ ก็เห็นหนังสือ "กรรมและการอยู่เหนือกรรม" ของท่านพุทธทาส (อีกแล้ว) 
วางอยู่ในชั้นหนังสือในห้องที่ร้อยวันพันปีไม่เคยเห็น พ่ออาจจะลืมเอามาวางไว้
จำได้ว่าพออ่านแล้ว ทำให้สว่างมาก และรู้สึกว่า ยูเรก้า 555 

กรรมเก่าคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และธรรมในส่วนที่เป็นกลไกการเกิด 
วิธีทำให้กรรมใหม่เปลี่ยนไป คือการไปเปลี่ยนวงจรของมันในบางจุด
ย้ำ ว่าแก้ได้แค่บางจุด เท่านั้น เพราะพอเกิดเป็นภพมาแล้วมันไหลเลย แก้ไม่ได้ละ
นั่นเป็นเหตุผลว่าคนเราปฏิบัติธรรมแล้วทำไมยังทุกข์ เพราะส่วนที่มันแก้ไม่ได้ มันมีอยู่
และที่พระอรหันต์อยู่ในโลกแต่ไม่ทุกข์ เพราะ ทำทุกอย่างเป็นกริยา แค่สักว่า...

แนวทางของท่านพุทธทาส คือการทำอาณาปานสติ เพราะมีอยู่ในหลายสูตร รวมทั้ง
มหาสติปัฏฐานสูตรด้วย แต่ทำยากนะ คิดก่อนเลย ทำไงอ่ะ สักว่าอ่ะ คิดเอาเหรอ?? 555
คิดไปคิดมา แนวทางที่เคยปฏิบัติมาบ้าง ก็บอกว่า ทำงี้สิ ลองทำดูเองก่อน
กำหนดมันทุกอย่าง ก็รู้สึกดีนะ เลยตั้งใจว่าอยากไปปฏิบัติธรรมจริงจังแล้ว
แต่ไม่ได้ไปสักทีเพราะพี่ติดงาน  

เลือกที่ทริสนี่ เป็นการเลือกที่ถูก ตรงที่เปิดโอกาสให้พี่ได้ปฏิบัติได้เต็มที่ เลือกที่ไปได้หลายที่
ทั้งวัดปัญญานันทาราม วัดมหาธาตุ เจอกัลยาณมิตรดีๆ หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การมาทำงานที่ทริส ทำให้เจอพี่จอยบงกช น้องปิงวราภรณ์ พี่ตูนอนรรฆิยา ^^
ที่เป็นเรื่องบังเอิญมาก ว่าเราไม่ได้คุยกันก่อนไม่มีเฟสให้รู้ว่าชอบแนวนี้ พอรู้ว่าลาไปปฏิบัติธรรม
เลยได้คุยกัน และเจ้ได้แนะนำสถานที่และพระอาจารย์ให้ ปิงกะพี่ตูนได้ไปพร้อมๆ กันมาสองรอบป่ะ ^^

ไม่รู้จะขอบคุณยังไงหมด แต่มันยอดมากค่ะเจ้ 

ถ้าเลือกงานวิจัยในบริษัทต่างชาติเสียแต่ตอนนั้น อนาคตอาจจะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบนึง 
ได้อย่างก็เสียอย่างนะ สัจธรรม

ตั้งแต่นั้นมาพี่ก็ได้ทั้งเวลา และได้พบที่ปฏิบัติที่ดีๆ ตลอดมา 
การแสวงหาคำตอบในวิธีการที่ถูกต้องก็ก้าวหน้าไปตามลำดับ ได้เจอหนังสือดีๆ ได้เจออาจารย์ดีๆ 
ได้เจอเพื่อนร่วมหนทางการปฏิบัติดีๆ ไอ้การทำความเพียรทางจิต มันก็มีวนๆ บ้าง  
เราก็ "คน" "วน" อยู่ในโลกนี้อยู่ ถ้าไม่มีทุกข์ ก็ไม่มีการพ้นทุกข์นะอย่าลืม 555 ก็ต้องมีทุกข์สิ

ณ ตอนนี้ พี่ก็เหมือนคนที่อยู่ใน matrix 555 พยายามถอดรหัสอยู่ให้หลุดออกไปได้ 
แต่แหม...source code มันเยอะจัด และเวลาปฏิบัติจริง ยิ่งกว่าถอดทีละบรรทัด
มันถอดกันทีละอารมณ์ ถ้ากำหนดไม่ถูก มันก็คือไม่คลิ๊ก มันจะรู้สึกได้ว่าไม่คลิ๊กอ่ะ
 แต่ถ้าจะถอดให้ผ่านทั้งชุด มันก็ต้องให้ครบทุกอารมณ์ ผิดไม่ได้สักอัน!!!
ไม่ยาก เพราะเรารู้ภาษาทุกคน เป็นภาษาเบสิก 555 และก็ไม่ง่ายเลยเนอะ
เลือกวนได้ 4 ฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่บังคับ แต่เกิดไรขึ้นมาต้องกดให้ถูก
และทัน เหมือนเกมตีหัวตัวตุ่นขั้น advance อ่ะ ^_^
อ๊ะ อ๊ะ พยายามจะกดให้ทันจนหมด (ตามประสาคนโลภ อยากผ่านเร็วๆ)
ก็ผิดนะฮ๊า เครียด ปวดหัวกันเลยทีเดียว  
หลายต่อหลายครั้ง ด้วยความที่มันอะไรฟระ ทำเมื่อไรจะเสร็จเนี่ย!!! ก็เบื่อ ขี้เกียจ 
ขอพักก่อน วางข้างแทะ แวะข้างทาง ทักษะการถอดรหัสมันจะเสื่อมไปด้วย
แถมร่างกายมีแต่จะเสื่อมไป 36 ยังขนาดนี้ ถ้าสัก 72 แล้วจะขนาดไหน -_-"

"สนุกดีนะ"  5555 การหาทางสายกลางไปด้วย และความเพียรไปด้วยตลอดเนี่ย มันยากมาก

ณ รอบก่อนหน้านี้ สองปีก่อน รู้สึกว่า แหม...การพ้นทุกข์มันก็แค่ ...
"การเพิกถอน หรือ ทวนกระแสของ Self Concept" ตามประสาของคนที่เรียนจิตมา
แค่คิดก็รู้สึกว่า ...อืม มันก็คงไม่หนักเนอะ แต่ไม่หนุกอ่ะ เพิก self concept แล้วการรับรู้มันก็จะชืดๆ ดิ
เอาไว้ก่อนก็ด่ะ 555 ประมาทอีก ไม่ประมาทธรรมดา เข้าขั้นมืดสำหรับคนปฏิบัตินะ ได้เรื่องเลยทีเดียว
สมรรถภาพในการปฏิบัติ ความว่องไวของตัวสติและสัมปชัญญะ ลดลงอย่างรุนแรง !!!!!!!  

ไอ้กุ๊กเอ๊ยยยย โง่แล้วอวดฉลาด 555 ถ้ามันง่าย ท่านคงไม่เอาสักกายทิฎฐิไว้ที่สังโยชน์ขั้นแรกหรอก

วิจิกิจฉา กับ สีลพตปรามาส ยังเป็นขั้นต่อไป ละเอียด และเนียนกว่าเยอะ จริงๆ 
ที่เขียนนี่ไม่ใช่ว่าเพิกสักกายทิฎฐิได้แล้วนะ ยังไม่ได้ทั้งหมดแหละ แต่รู้สึกว่า 
พี่วิจิกิจฉาเนี่ย แกแรงกว่า แกมาเนียนๆ แบบเราทำถูก แกก็ยังทำให้เรารู้สึกสงสัย ว่าถูกป่าวหว่า แล้วก็ผิดอีก
คุณพระ แล้วพี่สีลพตปรามาส แบบที่เราคิดว่ามันง่ายๆ แค่การแปลตามตัวอักษรว่า "การงมงายในศีลพรต" 
มันจะแรงขนาดไหนนะนี่??? หนูกลัวแล้วค่ะพี่ 

วกมาเรื่องนี้หน่อย ทำไมเอาทุกข์ออกมาด้วย???

--มันเป็นสัญญา (ความจำ) เก่าๆ และ สังขาร (การปรุงแต่งของจิต)
เห็นมะ มันเป็นเรื่องของ "ขันธ์" ทำได้แค่ "กำหนดรู้" เท่านั้น

จริงๆ ทุกคนก็มีสิทธิเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง มันเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ 
ต้องปล่อยวางอย่างเดียว (อันหลังนี้เป็นความคิด ตรึกเอาแล้วนะ 555 ไม่ใช่การกำหนดรู้) 

พระอาจารย์พูดเรื่องประโยชน์ของการฝึกสติขณะเกิดอุบัติเหตุด้วย นึกถึงน้องเล็กเลย 

มีเสริมๆ 

หลวงพ่อปราโมทย์ เขียนไว้เมื่อปี 2542 
ง่ายต่อการทำความเข้าใจดี


อีกอันของ David R Loy ที่สนับสนุนกันดี

เมื่อมาถึงจุดนึงที่การปฏิบัติธรรมเป็นเหมือนการลอกหัวหอมของตัวตนออกทีละนิดๆ 
เพราะจริงๆ แล้วการปฏิบัติธรรมก็คือ "การทวนกลับ" ของการก่อร่างสร้างตัวตนขึ้นมาในโลก 
เพราะตอนเราเกิดมาเรามีขันธ์ติดมาชัด (อันนี้ชัดเจนจากการเห็นหลาน) 
แต่ความเป็นตัวตนจะค่อยๆ เกิดขึ้น ทุกวันๆ 
จนกระทั่งเรากลายเป็นนั่นนี่...กลายเป็นกอล์ฟ กลายเป็นไกด์
แล้วก็จะกลายเป็นกอล์ฟ ต้องมีลักษณะยังไง มีตัวตนแบบไหน?

สุดท้ายเราทนได้จริงๆ เหรอ กับการที่จะไม่เหลือตัวตนบนโลกนี้ 
กลายเป็น Matrix นึงบน Universe

---ถ้าท่านเปลื้องกระบวนการทางจิตใจและทางกายเหล่านั้นออกไป
มันก็เหมือนปอกหัวหอมออกทีละชั้นๆ เมื่อไปถึงชั้นในสุดจะมีอะไรเหลือหรือ?

ไม่มีอะไรเลย ไม่มีเมล็ดหรือสิ่งอื่นใดอยู่ที่แกนเมื่อชั้นในสุดถูกปอกออก
แล้วมีอะไรผิดในเรื่องนั้นหรือ? หามีไม่ 

ปัญหาพื้นฐานคือ เราไม่ชอบการไม่เป็นอะไรสักอย่าง 
แกนที่กลวงของคนเรา ย่อมเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัว 
ไม่มีสิ่งใดหมายถึงไม่มีสิ่งใดที่จะหมายได้หรือยึดถือได้---

David R. Loy, 2008 Money Sex War Karma.

คารินะ ควรอ่านนะนี่ นึกถึงร่างหนังสือทฤษฎีการปอกหัวหอมของเธอเลย 




-------------------------------------------
ให้กลับไปเขียนอีก ก็เขียนไม่ได้นะ LOL










Book Review : ผู้ชายที่หลงรักตัวเลข | พอล แอร์ดิช (Paul Erdos)


ทันทีที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เราก็รู้สึกว่า "คณิตศาสตร์" เป็นเรื่องที่เข้าถึงง่ายอย่างเหลือเชื่อ 
(ซึ่งก็อ่านมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว)
พลังของคนที่หลงรักอะไรจริงๆ แผ่กระจายได้ขนาดนั้นทีเดียว!

คนเขียนหนังสือเล่มนี้ Paul Hoffman บอกว่ายิ่งตัวเองเริ่มติดตาม ขุดคุ้ยโน่นนี่เพื่อที่จะเขียนประวัติของแอร์ดิชมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้รู้สึกชอบแอร์ดิชมากขึ้นเท่านั้น แม้เขาเองในตอนแรกจะยังไม่ค่อยอินนัก พออยู่ไปสักพักก็เริ่มติดโรคจากแอร์ดิช LoL

หนังสือเรื่องนี้เป็นหนังสือชีวประวัติ ที่ Paul ได้ให้แอร์ดิชอ่านก่อนที่จะตีพิมพ์แล้ว เพราะฉะนั้น รับประกันความถูกต้อง

เนื้อเรื่องไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เข้าใจ เรื่องเกี่ยวกับจำนวนตรรกยะ อตรรกยะ จำนวนเฉพาะ ฯลฯ ถูกย่อยให้อ่านง่ายและสนุกสนาน ชวนคิดสไตล์แอร์ดิช ... 

แอร์ดิชเป็นคนที่เชื่อว่า "คณิตศาสตร์คือความจริงแท้" และเชื่อว่าการคงอยู่ของคน คือ การที่ยังมีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านจำนวนเฉพาะ เรขาคณิต 

แอร์ดิชเป็นคนที่เกิดในยุคสงคราม "ตลอดเวลาคณิตศาสตร์เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวของเขาในโลกที่เขาเห็นว่าโหดร้าย ไร้หัวใจ แม้เขาจะยังคงเชื่อในความดีงามและความบริสุทธิ์ในตัวแต่ละบุคคลก็ตาม"  

สำหรับแอร์ดิช คณิตศาสตร์ดูจะเป็นเหมือนประตูทางสังคมอย่างหนึ่งที่เขาสามารถจ่ายเงินเพื่อหาคนมาทำโจทย์ด้วย ไม่ใช่รับแก้โจทย์เพื่อจะหาเงินนะ ยอมจ่ายเงินเพื่อหาเพื่อนทำโจทย์เลยแหละ เขาเกิดมาและมีชีวิตอยู่เพื่อสิ่งนี้ "ตัวเลข" 

นอกจากความดีงามของแอร์ดิชเองที่ได้ทิ้งผลงานทางคณิตศาสตร์แก่โลกไว้มากกว่านักคณิตศาสตร์คนไหนๆ ยังมีความดีงามของคนเขียนที่สามารถเรียบเรียงชีวิต มุมมองของความเป็นคนแปลกๆ เมื่อเทียบกับคนอื่นในสังคมโดยเฉลี่ย ความคิด การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ความเอื้ออาทรของแอร์ดิชต่อโลก ต่อคนรุ่นหลัง มันทำให้หนังสือชีวประวัติเล่มนี้มีชีวิต และทำให้ผลงานของแอร์ดิชดูมีชีวิตและเข้าถึงได้ด้วย

ถ้าใครอยากรู้ว่า Nerd เป็นยังไง แอร์ดิชนี่แหละ Nerd ตัวพ่อ!




พุทธศาสนาในมุมมองของเจ้าหนูจำไม ??

ย้ายมาลงไว้ที่นี่เลยทีเดียว ท่ามกลางข่าวคราวร้อนระอุ

>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>



จากที่ได้ถกกับเพื่อนวันโน้นนน เกี่ยวกับอะไรๆ ในพิธีกรรมทางศาสนา ทำให้อยากเขียน note ขึ้นมาแลกเปลี่ยนกัน
เพราะอาจจะมีเพื่อนๆ ที่เคยสงสัย กำลังสงสัย และอาจจะเริ่มสงสัย ณ เวลาใดต่อจากนี้ไป
(เพื่อนจะอ่านมั้ย มันยาวเกิน 555 --- และเขียนๆ ไปเนี่ย ก็เป็นความเพ้อเจ้ออย่างหนึ่ง ^_^") 

ทำไมต้องสวดมนต์ขอพร 
ทำไมทำบุญแล้วต้องอธิษฐานนั่นนี่ ไม่อธิษฐานได้ป่ะ ไม่รู้จะขออะไร
(เราเคยขอให้โลกสงบสุขมาแล้ว ไม่รู้จะขอไรจริงๆ +_+)
ทำไมต้องกราบสามหน ทำไมต้องนโมตัสสะ
ทำไมต้องซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ ทำไมๆๆๆๆๆ

เอาคำถามกลางๆ ก่อน พระพุทธศาสนาสอนอะไร? กับ ทำไมต้องพุทธศาสนา?

ถ้าตอบตามตำราและครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ที่เจอมา
ก็จะตอบคำถามแรกว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ ! 
ตอนเด็กๆ ฟังแล้วก็ อืม...เหรอ...แล้วก็เข้าใจตามที่ท่านอธิบายให้เข้าใจ ตอบข้อสอบได้ ตามนั้น 5555 
คือจริงๆ แล้วต้องเรียกว่า เข้าหัว แต่ ไม่เข้าใจ

หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษ เราเริ่มตอบคำถามกับตัวเอง
(ซึ่งอาจจะไม่ถูกถ้าไปเทียบกับเกณฑ์บางอย่าง)
ว่า "พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการใช้ชีวิต" ในทุกมิติด้วย
อยู่ที่คุณจะเลือกว่าต้องการมีชีวิตแบบไหน
อยากมีชีวิตแบบพ้นจากความทุกข์ เว่ียนว่ายตายเกิดก็มี
อยากมีชีวิตสุขีในแบบโลกๆ ที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็มี
อยากมีชีวิตส่วนตัวที่ไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็มี
มีคำตอบที่ "จัดให้" ได้ทุกสภาวะชีวิต!!
แล้วยิ่งผ่านไปก็ยิ่งรู้สึกว่ามันใช่ มันถูก!!! อะไรจะดีขนาดนี้ ^_^ 

ที่น่าประหลาดใจคือ ก็เป็นคำสอนชุดเดียวกันนั่นแหละ
แต่การรับรู้ของคุณเองที่มีต่อคำสอนชุดเดียวกันนั้น มันจะเปลี่ยนไปตามเหตุ-ปัจจัย 
ด้วยความประทับใจในคำสอนดีๆ ที่พระพุทธเจ้า-มนุษย์คนนึงที่สามารถ
แสดงศักยภาพที่ดีที่สุดของมนุษย์ให้มนุษย์ด้วยกันเองรู้-
ว่าคน "คิดได้" "ทำได้" "เลือกได้" (จริงอยู่ว่ามันก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง)

ทำให้เราตอบคำถามตัวเองได้อีกข้อ ว่า...

ทำไมต้องพุทธศาสนา? 

เสรีดี ใครก็อ่านได้ ศึกษาได้ ไม่ต้องเชื่อ ไม่ต้องแสดงตัวว่านับถือ
พระพุทธเจ้าเป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งเอาความจริงในธรรมชาติมาบอกให้ฟัง
ว่าเรื่องราวของชีวิต จิตใจ มันเป็นแบบนี้ มีปมอะไรตรงไหน
จะแก้ปมเหล่านั้นได้ยังไง >>>
เลือกเชื่อหรือเอาไปใช้ได้เลย ตามความชอบ ตามความเชื่อ ตามช่วงเวลาที่ใช่
เป็นหลักคำสอนที่ "เท่มาก" ในความคิดของเรา
(หลักคำสอนอื่นสำหรับเรา จะเป็นคำว่า ดี นะ แต่อันนี้ เท่ 5555)
และมันช่างเอื้อกันมากในเรื่องจิตวิทยา  

เลือกอ่านเอาในส่วนที่เป็น แก่น นะ พระสุตตันปิฏกบทดีๆ เยอะแยะ หนังสือธรรมะดีๆ ก็มีเยอะ 

สำหรับเรา >>> ชีวิตคือชั่วเวลานี้ 
และการใช้ชีวิตที่พุทธศาสนาสอน
ก็คือการเลือกที่จะใช้ชั่วเวลาในแต่ละขณะ
ที่คุณมีสิทธิ์ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

Life is a moment. Living is the way you choose to use each moment. 

ไม่ต้องสงสัยหรอกว่าทำไมเราถึงเป็นคนที่เหมือนจะดี
แต่ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นคนดี 555
เพราะเราก็ทำมันทุกอย่างทั้งดีและไม่ดีนี่แหละ
การใช้ชีวิตอย่างปุถุชนคนหนา - ผู้ประกาศต่อหน้าพระอาจารย์ว่าหนูยังไม่อยากพ้นทุกข์-
มันก็เป็นอย่างนี้แหละเนอะ *(^_^)* 

...ท้ายนี้ขอบคุณเพื่อนเปิ้ลผู้มีบุญ เพราะฝนไม่ตกทำให้เราได้ไปถวายดอกไม้สวยๆ กัน 
ขอให้ความสงสัยทุกอย่าง พาให้ค้นหาและเจอคำตอบที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับเปิ้ลนะ...