Book Review : Psychic marketing 02 | สร้างแบรนด์ด้วยศรัทธา

มากกว่ารู้จัก คือดักใจ "ดักอย่างไร?"
ใน Psychic marketing 01 บอกไว้ว่า คนที่ดูเหมือนจะมีความสามารถในการเดาเก่งเป็นพิเศษ จริงๆ เป็นเพราะเขามีคลังข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์มากมายอยู่ในหัว หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในคลังที่ว่านั่น ^^

Kent Wertime หนึ่งเซียนในวงการโฆษณาและการสื่อสารที่หน้าที่ล่าสุด ณ ตอนที่เขียนเป็น CEO OgilvyInteractive Asia จัดเป็นคนที่มีคลังข้อมูลเกี่ยวกับมนุษย์มากมายคนหนึ่ง และเขาบอกว่าแก่นของหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น เรื่อง "การติดต่อกับจิตใต้สำนึกของผู้บริโภค" !!!

สร้างแบรนด์ด้วยศรัทธา (ฺBuilding Brands & Believers : How to connect with consumers using archetypes) อ่านกันวางไม่ลง แนวนิยายแฟนตาซีเหมือนไม่มีอะไร แต่คิดตามๆไป อืม...จริงแฮะ 555+

ฉบับที่มีอยู่เป็นของสำนักพิมพ์ ผู้จัดการ ณ พ.ศ. 2546

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ : ในขณะที่หนังสือเล่มอื่น เล่นกันถึงเรื่องวิธีการสื่อสาร แต่เล่มนี้เล่นกันที่ระดับจิตใต้สำนึก เพราะคำโปรยบอกว่า การทำความเข้าใจการทำงานของจิตใต้สำนึกจะทำให้คุณสามารถจูงใจผู้บริโภคได้ดีขึ้น

อ่านเรื่องเกี่ยวกับแบรนด์มาหลายเล่ม เล่มนี้โดนที่สุด!
จริงๆ แล้วมันใกล้เคียงกับสัญญศาสตร์ (Semiotics)
(อ่านเพิ่มเติม สัญญศาสตร์ สัญลักษณวิทยา)

ตอนซื้อหนังสือเล่มนั้น ซื้อเพราะความสงสัยว่าทำไมโฆษณาเหล้าถึงได้มีพลังนัก แล้วทำไมโฆษณานมถึงดูอ่อนปวกเปียก (จริงๆ พอพูดถึง คำว่า "เหล้า" กับ "นม" มันก็ให้ความรู้สึกเป็นเบบี๋ของอย่างหลังแล้วเนอะ นั่นแหละ นมถึงไม่เคยชนะเหล้าไง! ถึงไวตามิลค์จะพยายามเท่ขนาดไหนก็มีพลังได้ไม่เท่ากับเหล้า และตระกูลแอลกอฮอล์ ที่เห็นแค่สี ก็น้ำลายไหลแล้ว)




รูปเล่ม 

หนังสือเล่มนี้มี 264 หน้ารวมปก กระดาษถนอมสายตา (เอ๊ะ หรือเพราะเก่าแล้ว 555+)
แบ่งเป็น 4 ภาคและหนึ่งบทนำ


เนื้อหาในเล่ม

บทนำ โลกของสายสัมพันธ์
"งานของผมคือขายทุกอย่าง...สิ่งที่จู่โจมผมมากที่สุดไม่ใช่ความแตกต่างของสินค้าแต่เป็นความแน่นอนของกระบวนการขายที่ประสบความสำเร็จ...จุดที่สำคัญกว่า (เทคนิคการขาย) คือการลงลึกไปถึงระดับที่ว่าทำอย่างไรกระบวนการโน้มน้าวจูงใจคนจะได้ผล สิ่งที่ทำให้นาฬิกา รถยนต์ รองเท้า สามารถสร้างสายสัมพันธ์ถึงคนได้"

จนด้วยประโยคที่จะเขียน คือขายเก่งมาก ให้ตายยยย น่าอ่านตั้งแต่บทนำ

ภาค 1 ตลาดภาพลักษณ์ หลังจากที่ร่ายมนต์ใส่เราไปในบทนำว่าในโลกของสายสัมพันธ์มันมีความเชื่อมโยงระหว่างคน สังคม กับตำนานที่เมื่อสังเกตจะเห็นว่ามันมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันอยู่ "ทั่วโลก" ภาคนี้ว่าด้วย "เศรษฐกิจภาพลักษณ์" นิยามของ Image Economy ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เม็ดเงินคร่าวๆ และ Celebrity endorsement ความบ้าดาราของพวกเราสร้างเม็ดเงินมหาศาลได้อย่างไร "เครื่องจักรแห่งการเติบโต" เล่าถึงสิ่งที่เป็นแนวโน้ม ตัวกำหนดความเติบโตของ Image Economy "ปะทะกำแพงภาพลักษณ์" ความท้าทายของกระแสเชี่ยวกรากของเศรษฐกิจภาพลักษณ์ที่มีกระแสหลัก ก็ต้องมีแนวต้าน  "กระบวนการจูงใจ" ที่จะทำให้แบรนด์ของคุณยืนอยู่ได้อย่างสง่างามในกระแสเศรษฐกิจภาพลักษณ์ แอบจิกกัดการวิจัยทางการตลาดเล็กๆ น้อยๆ ว่าเอาแต่ทำความเข้าใจ
"ไม่ได้มีการสร้างรูปแบบการติดต่อใหม่ๆ กับกลไกทางจิตใจภายในของผู้บริโภค"  

ภาค 2 เชื่อมโยงเทพนิยาย ใครไม่เคยฟังนิทาน นิทานปรัมปรา เทพนิยาย หรือตำนานบ้างยกมือขึ้น สมัยนี้คงมีเยอะ แต่สมัยก่อนนี้ต้องได้ฟังกันแหละ ภาคนี้ค่อยๆ บอกเราว่า "รหัสต้นฉบับ -The Source code" คืออะไร เราถูกผูกโยงเข้ากับรหัสต้นฉบับได้อย่างไร ภาษาดั้งเดิมใช้คำว่า เราถูกขัดเกลาด้วยกระบวนการทางสังคมอย่างไร (socialization) ณ จุดนี้ Mr.Wertime อ้างอิงถึงการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องเล่าพื้นบ้านและนิทานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญลักษณ์ต่างๆ ในเทพนิยาย ว่าเป็น "ผลิตผลโดยธรรมชาติของจิตใจ" ที่ปรากฎออกมาจากจิตไร้สำนึก
ซึ่งถ้าเราจะสังเกต...เราจะไม่เคยพบต้นตอของที่มา บางทีก็พบว่าเรื่องนั้นก็คล้ายกับเรื่องนี้ บางทีก็ตัดสินไปเองว่าแหล่งที่ดูด้อยอารยธรรมกว่าต้องเป็นฝ่ายลอกแน่ๆ ทั้งที่แต่ก่อนการลอกข้ามประเทศ ข้ามวัฒนธรรม ไม่ได้เกิดกันได้ง่ายนัก
จากนั้นก็ชี้แนะถึง "การสร้างเทพนิยายสมัยใหม่" หรือการสร้างวาทกรรมเพื่อกล่อมเกลาคนในสังคมที่เป็นเป้าหมาย ต้องทำอย่างไร ต้องใช้อะไร

ภาค 3 โฉมหน้าลี้ลับ (Mythic Profile) ภาคนี้เป็น Highlight ของเล่มเลย แหม...ไม่อยากจะบอก 555+ อยากให้ไปหาอ่านกันเอง ... ผู้เขียน (Mr.Wertime) บอกว่า รหัสต้นฉบับ (Archetype) ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์โลกมีอยู่ 12 ตัวแบบด้วยกัน ได้แก่ ...


1.   สุดยอดแข็งแกร่ง (The Ultimate Strength) : ความเป็นนักสู้ที่มีอยู่ในตัวคนเราทุกคน ความต้องการที่จะท้าทาย พิสูจน์ และอดทน

2.   นางพราย (Siren) : ตัวแทนของเซ็กซ์ การทำลายล้าง ความต้องการดึงดูด และถูกดึงดูดจากผู้อื่น

3.   วีรบุรุษ (Hero) : ตัวแทนของผู้ชนะ ความมุ่งมั่น ความสำเร็จ

4.   ผู้ร้าย (The Anti-Hero) : ตัวแทนแห่งด้านมืดในตัวเรา การทำลายล้าง แรงดึงดูดของความชั่วร้าย

5.   ผู้สร้าง (The Creator) : ตัวแทนของแรงบันดาลใจที่ดูจะติดมากับอำนาจล่องหน ที่จะก่อให้เกิดการสร้างอะไร "ใหม่ๆ"

6.   เจ้าแห่งการเปลี่ยนแปลง (The Change Master) : ตัวแทนของพระเจ้าในตัวเอง หรือความสามารถในการควบคุมชะตาชีวิต มันเชื่อมโยงแนบแน่นกับ "สุดยอดเคล็ดวิชาของกูรู"

7.   ตัวแทนอำนาจ (The Powerbroker) : ตัวแทนของความเป็นนายในตัวเราทุกคน สื่อถึงแรงขับไปสู่ความมีอำนาจและอิทธิพล

8.   อาจารย์ปราชญ์ (The Wise Old Man) : ตัวแทนสากลของผู้มีประสบการณ์ การฟูมฟักและดูแลผู้อื่น ผ่านการให้คำแนะนำ ในฐานะที่ปรึกษา

9.   ผู้ภักดี (The Loyalist) : ตัวแทนของเพื่อนและผู้รู้ใจ ความไว้วางใจ มั่นใจได้แม้ในยามยาก ความต้องการสร้างสัมพันธ์กับผู้อื่น

10. พระแม่โพสพ (The Mother of Goodness) : ตัวแทนของความบริสุทธิ์ การเลี้ยงดู ความอบอุ่นของมารดา ความต้องการรักษาความศักดิ์สิทธิ์เอาไว้

11. เจ้าเล่ห์น้อย (The Little Trickster) : ตัวแทนของอารมณ์ขัน การออกนอกกรอบ (non-conformist) และความน่าประหลาดใจ

12. ปริศนา (The Enigma) : ตัวแทนของความลี้ลับ ความไม่แน่นอน ความสงสัย แหม...นึกถึงหนังเรื่อง Imitation Game แต่เครื่อง Enigma นี่มันสุดยอดจริงๆ นะ


อ่านย่อๆ อย่างนี้ บางทีเราก็สับสนว่าตัวแบบอะไรคืออะไร เพราะบางอันมันซ้อนทับกันอยู่ แต่ถ้าหาหนังสือมาอ่านจะร้อง อ๋อ...ทันที

"ภาพลี้ลับในการเชื่อมผนึกในวัฒนธรรมท้องถิ่น" บอกเราว่า โฉมหน้าต่างๆ เป็นตัวเชื่อมระหว่างวัฒนธรรม อีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ตัวแบบข้างต้นทำให้ลดข้อแตกต่างระหว่างวัฒนธรรมลงไปได้ ประหยัดงบประมาณและเวลาของแบรนด์ข้ามชาติ (บางส่วน)

ภาค 4 ใช้ประโยชน์จากต้นแบบ "จัดการสิ่งที่สัมผัสไม่ได้" Kert ได้ให้เครื่องมือที่จะทำความเข้าใจคนและสำนึกร่วมของคนไว้แล้ว ในบทนี้เป็นการย้ำว่า "ต้นแบบคือแหล่งอำนาจที่มองไม่เห็น" ดังนั้นบริษัทต้องมีการบริหารจัดการเพื่อสร้างและรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ "ปรับปรุงการเชื่อมโยงต่อผู้บริโภค" โดยให้ความสำคัญกับการเข้าใจลูกค้า การมีเครื่องมือในการช่วยทำความเข้าใจลูกค้าอย่างต้นแบบต่างๆ หรือความรู้เกี่ยวกับการจำแนกคนในแบบต่างๆ การปรับปรุงความเชื่อมโยงของสารโดยใช้ตัวแบบเป็นสะพานเชื่อมระหว่างเหตุผลกับอารมณ์ของกลุ่มเป้าหมาย Mr.Wertime บอกวิธีการไว้ค่อนข้างละเอียดพอที่จะเอาไปปรับใช้ได้เลยทีเดียว

ส่วนตัวแล้วคิดว่าตัวแบบทั้ง 12 มี Position ในตัวเองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า วัตถุ 1 อย่าง อาจถูกรับรู้ได้หลายแง่มุม ในเรื่องคนอาจจะเบลอๆ กันได้ แต่เรื่องการสื่อสารการตลาด คุณไม่ควรพลาด!


มาถึงตอนนี้ เริ่มไม่แน่ใจเหมือนกันว่า เป็นเพราะค้นหา เราจึงเห็น จึงสร้างหลักฐานมาสนับสนุนความเห็นนั้น หรือเป็นเพราะมันเป็นของมันจริงๆ อยู่แล้วกันแน่ ?

มีหนังสืออีกเล่มที่เกี่ยวข้องกัน entry ถัดๆ ไปจะมาคุยให้ฟังคร่าาาา





Cybernetics 01 : interaction between human and machine

Cybernetics เป็นศาสตร์ที่เราเคยตั้งใจว่าจะเรียนเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้ไม่ได้เรียน ...

จนทุกวันนี้ เราก็ยังสนใจในศาสตร์นี้อยู่



Cybernetics คืออะไร มันคือศาสตร์แห่งการศึกษาการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน/สัตว์ และเครื่องจักร (the science of communication and control theory that is concerned especially with the comparative study of automatic control systems (as the nervous system and brain and mechanical-electrical communication systems))
หาอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ cybernetics definition 
แนวคิดพื้นฐาน คือ การจัดการหรือควบคุม [เครื่องมือ] เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โห...กว้างมาก แต่กระบวนการย่อยมันคือ การทดลอง ฝึก ฝึก ฝึก และต้องอาศัยผลป้อนกลับสม่ำเสมอ ทีนี้เราก็ต้องเฝ้าสังเกตผลกระทบที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการเหล่านั้น การสื่อสารระหว่างคน/สัตว์ กับเครื่องมือเหล่านั้น ข้อมูลที่ไหลเวียนระหว่างคนกับเครื่องจักร เกิดปฏิกริยาอะไรบ้างในสมอง ร่างกาย เครื่องจักร สังคม สิ่งแวดล้อม ? (พวกบ้าหุ่นยนต์ บ้า gadget จะเข้าใจดีนะ ทั้งอะตอม โดราเอมอน Sentai Robocop แม็กไกเวอร์ ฯลฯ พวกนี้คือ Socialize รูปแบบหนึ่ง)


รูปข้างบน สีดำๆ เนี่ย แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง AI กับ cybernatics ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จริงๆ แล้ว AI เป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนทัศน์ด้าน Cybernatics เท่านั้น

เกือบ 20 ปีก่อนแค่สนใจเรื่องเกี่ยวกับ gadget และเครื่องมือต่างๆ กับจิตวิทยาแยกออกจากกัน แต่พอได้เรียนมากขึ้น บวกกับการสังเกตคนรอบข้าง และเทคโนโลยีกระแสใหญ่มากที่เข้ามาในตอนนั้น (เด็กครุฯ ก็งี้ เรียนมันทุกเรื่อง เพื่อนให้ช่วยแปลมันทุก field) เริ่มสนใจผลกระทบของเว็บ และเว็บแชท (สมัย Pirch/ICQ) โอ้วววว ก่อน MSN/ Hi5/ Facebook/ Twitter/Google+ ซะอีก เมื่อยี่สิบปีที่แล้วตอนที่เล่นเน็ตกันใหม่ๆ ต่อกันยากมาก แล้วช่วงจังหวะตรงนั้นอ่ะ มันมีอารมณ์เกิดขึ้นเยอะ เคยป่ะ แบบต่อไม่ติดแล้วเหวี่ยงอ่ะ คือ เหวี่ยงจริงๆ นะ!



เวลาเห็นเพื่อนไปหอกลางหรือเข้าร้านเพื่อแชท เราก็สงสัยเสมอว่า ทำไมแค่การคุยกันผ่านตัวหนังสือทางเน็ต จริงป่าวก็ไม่รู้ ทำให้คน "ติด" ได้ขนาดนั้นเลย อาการเมื่อไม่สามารถแชทได้ มีอาการไม่ต่างกับคนติดอะไรมากๆ ตัวเราเองก็เหอะ อย่าให้ได้ลองอะไร พอเล่นแล้วยาว ไม่หลับไม่นอนเท่านั้น! ในทุกๆ อย่าง คือ ณ จุดที่ตัวเองเข้าไปติด .... เราจะไม่รู้สึกตัวหรอก ไม่ว่าจะเกม หรือแชท หรือเว็บบอร์ด หรือแม้แต่การท่องเน็ตธรรมดา... บางครั้งหลุดโลกไปเลย

Facebook เริ่ม Feb 4, 2004 ตอนนั้นก็ยัง chat/MSN หลังๆ เป็น Hi5 กันไป เราก็ว่ามันมีอิทธิพลกับสังคม วัฒนธรรมเราเยอะนะ แต่ยังไม่เป็นกระแสในสื่อ Above the line ยังเป็น Below the line อยู่

ณ ตอนนี้ผ่านมา 11 ปีแล้ว เรายังรู้สึกทึ่งเหมือนกันว่า มันมีอิทธิพลกับโลกขนาดนี้เลยเรอะ! มันกลายเป็นแขนขา มันกลายเป็น "เครื่องขยายอายตนะ" ที่เราแทบจะขาดมันไม่ได้ เหมือนกับขาดแล้วทัศนวิสัยจะลดลง ไม่รู้ ไม่เห็นอะไร จะพูดจะคุยก็ต้องใช้ ทำงานก็ต้องใช้ ขายของก็ต้องใช้ ร้องเรียนก็ต้องใช้ จีบกันก็ต้องใช้ เฮ้ย!!!

[เราถาม : คนเราสมัยนี้ ใช้ชีวิตอยู่บนโลกสองใบ คือโลกจริง ที่เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 6 รับรู้มันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน กับโลกเสมือน ที่เราใช้ประสาทสัมผัสแค่ 2 จาก 6 อย่าง แต่ทำไมสามารถทำให้เรารู้สึก ดีใจ เสียใจ โกรธ ฯลฯ ได้มากเท่าๆ หรือบางทีจะพอๆ กับโลกจริง? 

เราไปหาคำตอบมา : คนเราคิดว่าเราได้สัมผัสรับรู้โลกที่เป็นจริง แต่โลกตามที่เราเข้าใจเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากการหลอกลวงของภาษา เราสับสนและเจ็บปวดเพราะเรา "ยึดติด" กับการปรุงแต่งทางความคิดราวกับว่ามันเป็นโลกเสียเอง!]

ถ้ามันจะไม่มีอิทธิพลกับเรามากขนาดนี้ เราคงไม่รู้สึกอะไร เพราะเวลาไปปฏิบัติธรรมก็เฉยๆ กับการไม่มีเครื่องมือสื่อสาร ... แม้กระทั่งในชีวิตประจำวันก็เหอะ (อันนี้ก็สุดโต่งไปนะ)

เดี๋ยวมาคุยกันต่อ ว่าความเชื่อมโยงมันเป็นยังไง ทำไมขอบเขตของโลกจริงและโลกเสมือนถึงไม่มีอีกต่อไปแล้ว   


And...I think to myself whether I am a girl or machine?




Psychic Marketing 01 : มากกว่ารู้จักคือดักใจ

วันก่อนใน Pantip มีคนมาตั้งกระทู้ถามว่า "อะไรคือหัวใจของการขาย"

สรุปสั้นๆ มันคือ "การเสนอสิ่งที่ใช่ให้แก่ลูกค้า และการปิดการขาย"





Idea การตอบกระทู้นี้มาจากบทความ "Psychic Marketing" คำที่นักการตลาดไม่ยอมใช้กัน เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ประเดี๋ยวจะดูไร้เหตุผลและไร้น้ำหนัก จริงๆ แล้ว Marketing หรืออะไรต่างๆ นานา ที่ต้องทำงานกับผู้คนก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนผสมของ Art & Science ใกล้ๆ กันทั้งนั้นแหละ

เอาล่ะ มันเกี่ยวกับ Psychic ยังไง มาดูกัน ^^






1. การเสนอสิ่งที่ใช่ให้แก่ลูกค้า
(ย้อนกลับไปอ่านว่า "สิ่งที่ใช่" คืออะไร?)

ทำไงจะรู้ว่า สิ่งที่ใช่ของลูกค้าคืออะไร มันต้องอ่านใจ-เดาใจ กันหน่อย
เซียนเขาบอกว่า เราต้องอ่านให้ออกว่า ว่าที่ลูกค้าเป็นคนอย่างไร? คุยกับตัวเองอย่างไร? มีมุมมองต่อตัวเอง ต่อโลก อย่างไร? มีวิธีการจัดการกับโลกอย่างไร? (ภาษาไทยจีนว่า รู้เขา นั่นแหละ!)

อ่านยังไงอ่ะ? ดูสมองเรอะ? อย่าบ้าน่า...
ถึงตอนนี้เครื่องไม้เครื่องมือจะดีขนาดที่มีการ "ดูสมอง" ได้ก็ตามที แต่เราคงไม่สามารถติดเครื่องไม้เครื่องมือได้หมดทุกครั้ง ทุกคน ... ดังนั้นเราต้องดูผ่านการกระทำและคำพูดแทน อ๊ะๆๆ เขาให้ระวังว่า บางอย่างมันเป็นแค่เปลือก...เราต้องมองให้ลึกกว่านั้น!!! ต้องหาให้ได้ว่า "อันไหนจริง" "อันไหนหลอก" และ"อันไหนแม้แต่เจ้าตัวยังไม่รู้เลยว่าจริง" 555+



(เดี๋ยวไปคุยกันเรื่อง "วิธีหา" ในบทความหน้า)

สิ่งที่ว่าที่ลูกค้าคุยกับตัวเองมีอยู่ 2 อย่าง คือ Fact & Feel หาให้ได้ว่า Fact อะไรที่ทำให้เกิด Feeling ได้เยอะๆ ให้เจาะไปที่ตรงนั้น และในเรื่องของ "ความรู้สึก" นี้ เซียนเขาบอกว่า ไม่ว่าจะเป็น B2C หรือ B2B ก็เลี่ยงไม่ได้หรอกที่จะมีเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเวลาตัดสินใจซื้อ

แล้วไงต่อ??

อ่านใจแล้ว...อย่าอ่านเฉยๆ ต้องพยายามหาให้ได้ว่าอะไรคือ "สิ่งที่ใช่" ด้วย เริ่มจากการเดาก่อน...
คนเรามีความสามารถในการเดากันทุกคนแหละ แต่คนบางคนจะมีความสามารถในการเดาเป็นเลิศ "มันไม่ใช่พรสวรรค์นะ" ของอย่างนี้ ฝึกได้จริงๆ

"การเดา" มันก็คือการมองหาช่องว่าง แล้วก็หาจิ๊กซอว์อีกตัวมาใส่แหละ (จะนึกถึง tetris ก็ได้นะ) ที่คนบางคนดูเหมือนจะเดาได้เก่งเพราะมีทักษะในการมองหาช่องว่าง รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ได้ทั้งหมดกี่แบบ ดักทางได้ และมีคลังเก็บตัวจิ๊กซอว์เยอะมากๆ อยู่ในหัว

เพราะฉะนั้น คุณต้องพร้อม! แปลว่า ต้องรู้จักแง่มุมของสินค้าและบริการของคุณอย่างดีที่สุด มันช่วยอะไรคนได้บ้าง? (the pain you can solve or the delight you can deliver) อย่าเพิ่งคิดแต่ว่า จะทำเงินได้เท่าไร?

หาช่องว่างนั้นให้เจอ - หาเหลี่ยมมุมที่จะนำเสนอสินค้า/บริการของคุณให้ได้ - และ วางมันลงไปซะ!
ตรงนี้แหละที่เป็นศิลปะ วางยังไงให้ได้จังหวะ เหมาะสม สวยงาม ไม่ยัดเยียด

2. ปิดการขาย
...อันนี้ยากยิ่งกว่า เพราะมันต้องอาศัย "จังหวะ" ที่ดีเลิศ...มันต้องอาศัยการฝึกฝนแบบ Hard core
และผลป้อนกลับที่ดีที่สุด คือการลงสนามจริง...

การ "ดักใจ" เพื่อ "วาง" สินค้า/บริการของคุณลงไปในใจลูกค้าให้ได้พอดีที่สุด อาจไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียว .... หน้าที่ของคุณคือ ทำให้ว่าที่ลูกค้า "เชื่อ" ว่า สินค้า/บริการของคุณและคุณเท่านั้นคือสิ่งที่ใช่ที่สุด ทำไมต้องเลือกของคุณในเมื่อมีตัวเลือกอื่นอีกตั้งมากมาย?

(วิธีการตรงนี้มีสองแบบ แบบมาร : หาช่องว่างคนอื่นแล้วโจมตีคนอื่นจนเขาต้องเลือกคุณ กับแบบเทพ : หาข้อดีของตัวเองที่เลิศเลอเสียจนหาสิ่งใดทดแทนไม่ได้อีกแล้วในชาตินี้ ... แบบ...มาเล่นกันเถอะ มาเล่นกันเถอะ ... corporate หลายแห่งไม่รู้เนอะว่ามันมีกฎแห่งกรรมซ่อนอยู่! ชอบใช้วิชามารกันนัก ลูกค้าไม่ได้โง่นะ!!!)

เมื่อว่าที่ลูกค้าเชื่อแล้ว อย่าลืมบอกรายเอียดการทำสัญญาและการจ่ายเงินด้วยล่ะ ไม่งั้นถือว่าเคสยังไม่ปิดนะ ... ก็อย่าใช้วิชามารแบบ...ทำให้เคลิ้มแล้วจับมือเซ็น หรือว่า เร่งๆ รีบๆ เพื่อลดทอนประสิทธิภาพในการตัดสินใจนะ เราว่าไม่แฟร์




ผู้ที่สนใจอ่านต้นฉบับ เชิญตามลิงค์ไปเลยค่ะ
Psychic Marketing
Psychic Marketing: How Great Marketers Read Minds And Close Deals
by Jonathan Fields JUNE 27, 2011 

Book Review : อัจฉริยะสร้างได้นะ รู้ยัง? | Talented is overated

คนเก่งที่อยากเก่งขึ้นไปอีก
คนธรรมดาที่อยากเก่งกับเขาบ้าง
คนเก่งอยู่แล้วที่ต้องการรักษาความเก่งไว้จนอายุ 90
คนที่เป็นพ่อเป็นแม่ หัวหน้า ผู้บริหาร ฯลฯ
ใครก็ตามที่ต้องการก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง ต้องอ่าน!


หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี 2008 ภาษาไทยในปี 2014 ลิขสิทธิ์โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น : ผู้เขียน Geoff Colvin

ผู้เขียนเริ่มด้วยการงัดหลักฐานต่างๆ มาบอกว่า สิ่งที่พวกเราพยายามเชื่อกันมาตลอด ว่าอัจฉริยะบุคคล คือสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด พระเจ้าประทานมา ฯลฯ เขาระบุว่า ไม่จริง!

งานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นที่พยายามศึกษาเรื่องราวของพรสวรรค์ และอัจฉริยะ แสดงให้เห็นว่า ความเป็นอัจฉริยะไม่ใช่สิ่งที่ได้รับพรมาจากสวรรค์ ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มันเป็นสิ่งที่ใช้เพื่อหาเหตุผลปลอบใจตัวเองที่ตัวเราทำได้ไม่ดีเท่าเขามากกว่า

ก็คล้ายๆ กับหนังสือเกี่ยวกับสมองหลายเล่มอ่ะนะ ที่ว่าสมองสร้างได้...แต่สิ่งที่โดดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ การยกหลักฐานเชิงประจักษ์  ด้วยข้อสรุปจากงานวิจัยต่างๆ มาแสดงให้เห็น มากกว่าจะบอกลอยๆ มันทำให้ดูหนักแน่น น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  

เนื้อหาในเล่ม

บทที่ 1-2-3 จะชี้ให้เห็นว่า ต้นตอแท้จริงของความสำเร็จคืออะไร
เราเคยเข้าใจว่าอย่างไร สิ่งที่เราเข้าใจมีส่วนไหนที่เป็นจุดบอดบ้าง
สามบทนี้กระแทกเราให้กระอักกับข้อเท็จจริงที่ว่า อัจฉริยะที่เรารู้จักทั้งหลาย
ไม่ได้เป็นอัจฉริยะอย่างที่เราคิด อะไรซ่อนอยู่ในนั้น

บทที่ 4-5 ชี้ให้เห็นถึงมุมมองอีกมุม ผลงานวิจัย การทดลองของผู้ที่่ต้องการเอาชนะ
ข้อจำกัดทางพันธุกรรมที่เราเรียกว่า ระดับสติปัญญาและความสามารถในการจดจำ
และอธิบายว่า คนที่เป็นอัจฉริยะ เป็นคนธรรมดาที่ทุ่มเทให้กับการฝึกอย่างบ้าคลั่งต่างหาก
บ้าคลั่งอย่างไร?
ด้วยจำนวนชั่วโมงการฝึกที่เหนือกว่าคนอื่นๆ มาก ด้วยประเด็นที่เฉพาะเจาะจง
และมีการให้ผลป้อนกลับ (ชี้แนะ) อย่างชัดเจน ไม่ต่ำกว่า 10 ปี
(10 years rule - เฮอร์เบิร์ต ไซมอน & วิลเลียม เชส)
กว่าจะสร้างผลงานได้อย่างที่เราเห็น
สำหรับสาขาวิทยาศาสตร์หลังๆ ยิ่งต้องใช้เวลามากกว่านั้น

บทที่ 6 ตอบคำถามว่า แล้วเราจะประสบความสำเร็จอย่างเขาได้มั้ย?
คำตอบคือ ได้! แต่ต้องผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนัก
ฝึก ฝึก และฝึก ซึ่งเรียกว่า การฝึกอย่างจดจ่อ (deliberately practice)
ที่คุณต้องเลือกแล้วว่าเส้นทางไหนที่คุณจะเดิน คนแบบไหนที่คุณจะเป็น
ทักษะแบบไหนที่คุณต้องทำเพิ่มเพื่อให้ไปถึงจุดนั้น

บทที่ 7-8-9 เป็นแนวทางในการนำการฝึกอย่างจดจ่อมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน กับองค์กร
และในหลายๆ อุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมแบบไหนที่จะทำให้เกิดอัจฉริยะได้!

บทที่ 10 บอกว่าเราจะต้านทานความเสื่อมของสังขารและข้อจำกัดของร่างกายได้อย่างไร?
ทำไมจึงมีนักดนตรีที่สามารถคงความเก่งกาจได้จนถึงอายุ 80-90 ปี จริงๆ แล้วนิยามความเก่งของคนในแต่ละสาขาวิชาชีพคืออะไร

บทที่ 11 เป็นบทที่ตัดจบ! มากก เพราะคำถามที่ว่า อะไรเป็นแรงจูงใจในการทำให้คนเราทุ่มเทให้กับการฝึกอย่างบ้าคลั่งขนาดนั้น! สุดท้ายก็จบที่ "ความเชื่อ" (คือบทนี้เราว่าแป๊กไปนิดส์)

ว่าแล้วก็นึกถึงข้อเขียนของนิ้วกลมบทหนึ่งที่ชอบมากๆ

ภาพวาดที่เฝ้ารอ by นิ้วกลม

ที่รัก ฉันอยากช่วยวาดภาพภาพนั้น แต่ฉันทำไม่ได้
ฉันไม่มีสี ไม่มีพู่กัน ไม่มีความสามารถ 
หากฉันมีสิ่งเหล่านั้น ฉันจะยกมันทั้งหมดให้เธอ 
แต่เปล่าเลย เรื่องแบบนี้ไม่มีใครมอบให้กันได้ 
เราอาจร่วมเดินทางไปตามหาสีที่ดีที่สุด 
หากระดาษเนื้อดีที่ซึมซับสีอย่างที่เธอชอบ 
ตามหาพู่กันขนกระรอกที่จิตรกรชื่อดังใช้ปาดทา 
ฉันร่วมเดินทางออกตามหากับเธอได้เสมอ 
แต่ภาพที่เธอต้องการวาดนั้น ฉันไม่สามารถวาดให้ได้ 
กระทั่งจับมือวาด 
เพราะหากทำเช่นนั้นแล้ว ภาพนั้นย่อมมิใช่ภาพของเธอ 
ภาพของเธอ เธอต้องเป็นคนวาดมันขึ้นมาด้วยตนเอง 
จึงเป็นฝีมือของเธอ 
ฝีมือที่ไม่มีใครมอบให้กันได้ 
ที่รัก นั่นเป็นสิ่งที่จอมยุทธ์ทั้งหลายออกเดินทางเพื่อให้ได้มา 
ทั่วหล้า สูงเสียดฟ้า เจ็ดมหาสมุทร เพื่อตามหาคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ 
ที่จอมยุทธ์ทั่วแดนร่ำลือกันว่า 
หากได้ฝึกเคล็ดวิชาตามคัมภีร์แล้วจะเก่งกล้าหาผู้ใดเทียบเทียมมิได้ 
จอมยุทธ์ออกเดินทางหาเพลงกระบี่ 
ผู้คนธรรมดาสามัญต่างออกเดินทางทุกวันเพื่อหาเคล็ดลับความเก่งกาจ 
ดูคล้ายคัมภีร์จะเป็นทางลัด 
ดูคล้ายว่ามันจะตัดตรง 
ข้ามเส้นทางคดเคี้ยวชวนคลื่นเหียน 
หุบเหวที่สามารถตกลงไปตาย 
ภูผาที่ต้องปีนป่ายขึ้นไป 
อุปสรรคนานาชนิดก่อนที่ใครคนหนึ่งจะกลายเป็นสุดยอดฝีมือ 
ที่รัก จอมยุทธ์ทุกคนเดินทางทั้งชีวิตเพียงเพื่อพบคำตอบว่า 
คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าเป็นเพียงเรื่องโกหก 
โลกนี้ไม่มีคัมภีร์ที่ว่านั้น 
ไม่มีทางลัดสู่ความสามารถ 
ไม่มีภาพสวยงามที่เกิดขึ้นในการวาดครั้งแรก 
ไม่มีบทกวีสละสลวยกินใจจากกวีไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม 
เราตรากตรำ--มิใช่เพื่อพบคัมภีร์ 
มิใช่เพื่อค้นหากระบี่น้ำดี พู่กันขนนุ่ม สีสันจากสายรุ้ง 
เปล่าเลย เราต่างเดินทางเพื่อเข้าใจว่า 
แท้ที่สุดแล้วสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่คัมภีร์ 
หากแต่เป็นการเดินทางนั่นเอง 
การตรากตรำเดินทางต่อเนื่องยาวนาน 
ทุกก้าวย่างหล่อหลอมให้เรากล้าแกร่ง 
ทุกย่างเท้าที่ตื่นขึ้นมาก้าวออกไปใหม่ในยามเช้า 
ค่อยค่อยโบยตีให้เรากลายเป็นมือกระบี่ที่ดีที่สุด 
มิต้องของสำนักไหน หากเป็นสำนักในแบบของเรานี่เอง 
จงก้าวต่อไปเถิดที่รัก  
ฉันมิเพียงจะหากระดาษ สี และพู่กันมามอบให้ 
แต่ยังขอมอบกำลังใจทั้งหมดที่จะให้ได้แก่เธอ 
จงอย่ามองหาความสามารถ 
จงอย่าออกเดินทางตามหาทางลัด 
จงมุ่งหน้าไปตามทางที่เลือกแล้ว 
อยู่บนเส้นทางนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น 
วาดภาพ 
วาดภาพ 
วาดภาพ 
จงอย่าลืมชื่นชมดอกไม้ ผีเสื้อ เสียงนก และหยาดฝน 
เก็บเกี่ยวสิ่งสวยงามระหว่างทางมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการวาด 
แล้วการเดินทางที่ยากลำบากจะค่อยค่อยสวยงามขึ้น 
มิใช่ด้วยเส้นทางที่เปลี่ยนไป 
หากเป็นเพราะหัวใจที่เปลี่ยนแปลง 
เมื่อนั้นเธอจะอยากวาดภาพทุกสิ่งที่เธอมองเห็น 
เมื่อเธอมีดวงตาของจิตรกร 
มีฝีพู่กันที่ตวัดกวัดไกวด้วยใจมิใช่ด้วยความกังวล 
เมื่อความวิตกว่าจะทำได้ไม่ดีระเหยหายเหมือนน้ำค้างยามสาย 
เมื่อชีวิตของเธอว่างเบาสบายและสวยงาม 
ภาพวาดของเธอจะไหลหลั่งดั่งสายน้ำตามธรรมชาติ 
ฉ่ำเย็น ต่อเนื่อง และงดงามโดยไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์ 
เมื่อนั้น 
ฉันจะรอชื่นชมภาพวาดจากปลายพู่กันของเธอ 
ได้เวลาแล้วที่รัก จงออกเดินทางเถิด.



หนังสือเล่มนี้กลายเป็นม้ามืด มาแรงแซงโค้งเล่มอื่นๆ ที่จดๆ จ้องๆ อยู่นาน
อันนี้หยิบ แล้วก็อ่านเลยซะงั้น และก็รู้สึกว่า ...
แหม...การสุ่มเลือกเล่มนี้มา
มันช่างลงล็อค ต่อกันกับ "ชีวิตนี้ ฟ้าลิขิต" ที่ได้รีวิวไปแล้วจริงๆ
(อ๊ะ! มนุษย์ชอบสร้างหลักฐาน)


จะว่าไปก็ไม่ได้อ่านนิยายจีนมานานนนนนนนมาแล้วนะนี่ ...









โลกนิติ-โลกธรรม : มาฆบูชา 2015



ปีนี้เป็นปีที่แม่ชวนอยู่บ้าน ด้วยเหตุที่ร่างกายยังแข็งแรงไม่เพียงพอ
เลยต้องเว้นการเวียนเทียนที่ธรรมสถานจุฬา
ซึ่งเป็นที่ๆ มักจะไปเป็นประจำทุกปี แถมชวนคนโน้นคนนี้ไปเสมอๆ
ไปวันอื่นแล้วกัน

วันนี้อยากหยิบยกเรื่องราวที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวแต่ก็เกี่ยวกันมาเขียนไว้

โลกนิติ

จำไม่ได้ทั้งหมดหรอก แต่มีโคลงโลกนิติอยู่บทหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องโลกธรรม

ห้ามเพลิงไว้อย่าให้   มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์    ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน          คืนเล่า
ห้ามดั่งนี้ไว้ได้          จึงห้ามนินทาฯ

โลกนิติ แปลว่า ระเบียบแบบแผนแห่งโลก เนื้อหาในโคลงโลกนิติมุ่งแสดงความจริงของโลก
และสัจธรรมของชีวิต ท่านว่าแต่งเพื่อสอนให้ผู้อ่านได้รู้ทันโลก เข้าใจในความเป็นไปของชีวิต
เป็นแม่แบบในการดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกต้องดีงาม

ในขณะเดียวกัน โลกธรรมก็เป็นของที่อยู่คู่โลก เป็นความจริงที่ทุกคนต้องเจอ
และต้องทำใจให้ได้ว่า "ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง"  

โลกธรรม 8
โลกเราประกอบไปด้วย ทวิภาค หรือความเป็นของสองสิ่งเหมือนเหรียญสองด้าน
มีขั้วบวกขั้วลบ มีดีมีชั่ว มีหยิน มีหยาง ฯลฯ

โลกธรรม 8 ที่ท่านสรุปเอาไว้มี 4 กลุ่มๆ ละ 2 ด้านในทิศทางตรงข้ามกัน
เกณฑ์การแบ่งที่ใช้ คือความพอใจและไม่พอใจ 
ซึ่งจะเป็นชนวนก่อให้เกิดโลภะ (การอยากดึงเข้า) และโกธะ (การผลักออก)

กลุ่มที่ 1 ได้ลาภ-เสื่อมลาภ : มีได้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์โพดผลต่างๆ ก็อาจต้องมีวันนึงที่เสียสิ่งนั้นไปไม่ว่าจะด้วยการสิ้นอายุ หรือสูญหาย หรือถูกเบียดเบียน ฯลฯ 

กลุ่มที่ 2 ได้ยศ-เสื่อมยศ : มีช่วงเวลาที่ได้รับการยอมรับมากมาย ก็อาจต้องมีวันหนึ่งหรือแม้แต่ชั่วขณะสั้นๆ ที่จะรู้สึกถึงการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม จากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของความไม่เข้าใจ (ที่เป็นเหตุผลชั่วคราว) หรือเหตุผลของความไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ไม่ใช่ ไม่เหมาะกับสภาวะการยอมรับนั้น (เป็นเหตุผลชั่วคราวที่ยาวนาน)

กลุ่มที่ 3 สรรเสริญ-นินทา : ในเมื่อคนเราต่างความคิด การกระทำของเราจึงถูกตีความได้หลายแบบ คนที่รัก ชอบ ที่แม้ไม่ได้ประโยชน์แต่เพราะชอบเรา หรือแม้แต่ได้ประโยชน์จากการกระทำนั้น ก็มักจะสรรเสริญ ยกย่อง ยินดีด้วย ในขณะเดียวกัน คนที่เกลียดเราเป็นทุนเดิม เสียผลประโยชน์ หรือคิดว่าเสียผลประโยชน์จากการกระทำของเรา (ทั้งที่จริงๆ อาจไม่ได้เสีย) ก็มักจะมีการพูดถึงในทางไม่ดี ทำให้เกิดความเสียหายหรือเจ็บใจแก่เรา โดยที่บางทีเราก็ไม่ได้มีเจตนาอย่างที่เขาเข้าใจนั้น
(แต่มันคือ law of action-reaction นะเราว่า เคยนินทาใครไว้ ก็จะถูกคนอื่นนินทาให้บ้าง ถือว่าหายกันไป Fair play ^^...เอ๊ะ แต่สำหรับเราที่ต้องเจอเรื่องทำนองนี้ตั้งแต่ประถม หมายความว่าไงห๊าาาา)   


กลุ่มที่ 4 สุข-ทุกข์ : ความสบายกาย สบายใจ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา เมื่อหมดเหตุ ความสบายกาย สบายใจเหล่านั้นก็หายไป การเข้าไปยึด ยื้ออยากให้มันอยู่กับเรานานๆ กลับก่อให้เกิดผลตรงข้าม คือก่อให้เกิดทุกข์ 

อย่าคิดว่าอะไรๆ จะอยู่กับเราไปตลอด เพราะ 

"โลกนี้ไม่เคยมีอะไรที่เป็นของเรา"

โดยส่วนตัวแล้วเจ็บปวดมากๆ กับความจริงข้อนี้
แต่ก็ยิ่งโตยิ่งชัดว่ามันเป็นเรื่องจริงที่หนีไม่พ้น  
ทางที่ดีคือ ยึด motto ของตัวเองไว้ 
Life is a moment, living is the way we choose to use that moment. : Kookio


สำหรับโคลงโลกนิติที่ชอบมากๆ คือบทนี้

ถึงจนทนสู้กัด                     กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ          พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ    สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง                หาเนื้อกินเองฯ 

เหตุผลแรก เพราะมันเห็นภาพชัดสำหรับเด็กๆ...
นึกภาพตามสิ...เสือผอมโซๆ ตัวนึง ท้องกิ่ว
อุตส่าห์หาอาหารมาได้ แล้วก็ถูกเค้าแย่งไป และก็ไม่มีแรงจะไปแย่งกลับมา 555 
และก็ไม่ได้รอที่จะแย่งอาหารจากชีตาห์ด้วยกัน หรือสัตว์ที่มีแรงน้อยกว่าต่อ
จริงๆ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในธรรมชาตินะ
เสือที่ถูกแย่งอาหารเป็นประจำคือ เสือชีตาห์ (ตัวเมีย) 
จนตอนนี้ จำนวนประชากรเสือชีตาห์ลดลงมากอย่างน่าใจหาย
นักวิจัยบอกว่า เป็นเพราะเสือชีตาห์ต้องใช้พลังงานมากมายในการวิ่งกวดให้เร็วในระยะสั้นๆ 
ซึ่งมันกินแรงไปมาก (นึกถึงตอนวิ่งระยะสั้นดู)
สัตว์ที่แย่งคืออะไรรู้มะ สิงโต! เจ้าป่าเชียวนะ!
ปลอบใจตัวเองว่าไม่มีวาสนาแล้วกัน ชีตาห์เอ๋ย

(หยุด! ไม่มีวาสนาไม่ได้แปลว่าแย่หรือโง่จนไม่คู่ควร
หรือเป็นคำที่เอาไว้  "เหยียด" อีกฝ่าย
เพราะวาสนานี่เป็นเรื่อง relative 
ของบางอย่างอาจเป็นเรื่องดีเลิศเลอสำหรับบางคน 
แต่ในทางกลับกันของสิ่งนั้นกลับทำร้ายอีกคนก็ได้) 

สำหรับชีตาห์ ถ้ากินเยอะอาจจะอ้วน วิ่งไม่ไหวก็ได้นะ เลยต้องถูกแย่งอาหารไป ^^ 

เราเข้าใจว่า ทรัพยากรบนโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด... 
แม้เป็นต้นไม้ ดอกไม้ ก็ต้องแข่งกันงอกให้สูงที่สุด เพื่อรับแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด
แม้เป็นสัตว์ ก็ต้องห้ำหั่นแย่งอาหาร แย่งที่อยู่ แย่งคู่ครอง 
แม้เป็นคน ก็ต้องแย่งชิงปัจจัยสี่ แย่งชิงพื้นที่ทางความคิด แย่งชิงความรัก แย่งชิงอำนาจ 
ทั้งหมดนี้เพื่อการคงไว้ซึ่ง "ตัวตน" 
สำหรับเรา มันน่าเบื่อออกนะ 

(อ๊ะ ยังไม่ใช่นิพพิทาหรอก อาจเป็นแค่ความเบื่อเพราะองุ่นเปรี้ยวก็ได้มั้ง)


ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งสำคัญต่อการมีชีวิต 
"ศักดิ์ศรีกินไม่ได้ แต่การไม่เห็นแก่ศักดิ์ศรีนี่แหละ ทำให้ความชั่วร้ายซื้อไปได้"
จำได้ว่าเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2013

แม้บางที อาจดูเหมือนเป็นการหลอกตัวเอง
แต่ในที่สุดแล้ว คนเราก็ต้องทำอย่างนี้...คนเราหลอกตัวเองอยู่ทุกวัน
ทุกเรื่องด้วย 
เพื่อให้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้...อย่างมีความสุข
เพราะอายตนะ 5 ของเรามันมีความสามารถจำกัด
(หาอ่านได้ในชีวิตนี้...ฟ้าลิขิตนะคร้าาา) 



แถม สำหรับวันนี้ : บทสวดมนต์บทนี้ไม่ได้ชอบมากนัก แต่เป็นบทที่ฟังแล้วสบายใจที่สุด 
อนุโมทนากับผู้จัดทำด้วยค่ะ



ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกคนบนโลกใบนี้ ทั้งที่เราพบเจอแล้ว และยังไม่เจอ 
สนิทและไม่สนิท เคยคุยกันและไม่เคยคุยกัน รู้จักกันและเหมือนจะไม่รู้จักกัน
เราโชคดีมากๆ ที่ได้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม เจอแต่คนดีๆ คอยตักเตือนและอยู่ข้างๆ กันเสมอ 



เครดิต  : ขอบคุณข้อมูลต่างๆ จากผู้ที่เข้าไปอัพเดตใน Wikipedia และ www.kaweeclub.com
ภาพดอก cosmos จากดอยแม่ตะมาน เมื่อต้นปี 2014

สาระ : โคลงโลกนิติทั้งหมด

๏ ปลาร้าพันห่อด้วย           ใบคา
ใบก็เหม็นคาวปลา             คละคลุ้ง
คือคนหมู่ไปหา                 คบเพื่อน พาลนา
ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้ง               เฟื่องให้เสียพงศ์ฯ
     
๏ ใบพ้อพันห่อหุ้ม             กฤษณา
หอมระรวยรสพา              เพริศด้วย
คือคนเสพเสน่หา              นักปราชญ์
ความสุขซาบฤาม้วย          ดุจไม้กลิ่นหอมฯ
    
 

๏ ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้            มีพรรณ
ภายนอกแดงดูฉัน              ชาดป้าย
ภายในย่อมแมลงวัน           หนอนบ่อน
ดุจดังคนใจร้าย                  นอกนั้นดูงามฯ 
   
๏ ขนุนสุกสล้างแห่ง            สาขา
ภายนอกเห็นหนามหนา      หนั่นแท้
ภายในย่อมรสา                  เอมโอช
สาธุชนนั้นแล้                    เลิศด้วยดวงใจฯ
    

๏ คนพาลผู้บาปแท้              ทุรจิต
ไปสู่หาบัณทิต                    ค่ำเช้า
ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์          บ่ทราบ ใจนา
คือจวักตักเข้า                    ห่อนรู้รสแกงฯ 

 
๏ หมูเห็นสีหราชท้า            ชวนรบ
กูสี่ตีนกูพบ                       ท่านไซร้
อย่ากลัวท่านอย่าหลบ         หลีกจาก กูนา
ท่านสี่ตีนอย่าได้                วากเว้นวางหนีฯ
     

๏ สีหราชร้องว่าโอ้             พาลหมู
ทรชาติครั้นเห็นกู              เกลียดใกล้
ฤามึงใคร่รบดนู                 มึงมาศ เองนา
กูเกลียดมึงกูให้                  พ่ายแพ้ภัยตัวฯ 
     
๏ กบเกิดในสระใต้            บัวบาน
ฤาห่อนรู้รสมาลย์              หนึ่งน้อย
ภุมราอยู่ไกลสถาน            นับโยชน์ ก็ดี
บินโบกมาค้อยค้อย           เกลือกเคล้าเสาวคนธ์ฯ
    

๏ ไม้ค้อมมีลูกน้อม           นวยงาม
คือสัปบุรุษสอนตาม          ง่ายแท้
ไม้ผุดังคนทราม               สอนยาก
ดัดก็หักแหลกแล้              ห่อนรื้อโดยตามฯ 
 
๏ นาคีมีพิษเพี้ยง               สุริโย
เลื้อยบ่ทำเดโช                  แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส              แมลงป่อง
ชูแต่หางเองอ้า                  อวดอ้างฤทธีฯ
     

๏ ความรู้ผู้ปราชญ์นั้น        นักเรียน
ฝนทั่งเท่าเข็มเพียร            ผ่ายหน้า
คนเกียจเกลียดหน่ายเวียน  วนจิต
กลอุทกในตระกร้า             เปี่ยมล้นฤามีฯ 

 
๏ งาสารฤาห่อนเหี้ยน        หดคืน
คำกล่าวสาธุชนยืน            อย่างนั้น
ทุรชนกล่าวคำฝืน             คำเล่า
หัวเต่ายาวแล้วสั้น             เล่ห์ลิ้นทรชนฯ
    

๏ ห้ามเพลิงไว้อย่าให้         มีควัน
ห้ามสุริยแสงจันทร์            ส่องไซร้
ห้ามอายุให้หัน                  คืนเล่า
ห้ามดังนี้ไว้ได้                  จึ่งห้ามนินทาฯ 
      
๏ ภูเขาเหลือแหล่ล้วน         ศิลา
หามณีจินดา                    ยากได้
ฝูงชนเกิดนานา                ในโลก
หานักปราชญ์นั้นไซร้        เลือกแล้วฤๅมีฯ 

 
๏ พริกเผ็ดใครเผ็ดให้          ฉันใด
หนามย่อมหนามเองใคร     เซี่ยมให้
จันทร์กฤษณาไฉน            ใครอบ หอมฤๅ
วงศ์แห่งนักปราชญ์ได้       เพราะด้วยฉลาดเองฯ 

 
๏ ภูเขาเอนก ล้ำ                  มากมี
บ่มิหนักแผ่นธรณี              หน่อยไซร้
หนักนักแต่กระลี                ลวงโลก
อันจักทรงทานได้               แต่พื้นนรกานต์๚


๏ ดารามีมากน้อย               ถึงพัน
บ่เปรียบกับดวงจันทร์         หนึ่งได้
คนพาลมากอนันต์             ในโลก
จะเทียบเท่าปราชญ์ไซร์      ยากแท้ฤๅถึงฯ 
 
๏ ถึงจนทนสู้กัด                 กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ           พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ        สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง                จับเนื้อกินเอง๚

 
๏ ตีนงูงูไซร้หาก                เห็นกัน
นมไก่ไก่สำคัญ                 ไก่รู้
หมู่โจรต่อโจรหัน               เห็นเล่ห์ กันนา
เชิงปราชญ์ฉลาดกล่าวผู้      ปราชญ์รู้ เชิงกันฯ 

๏ เว้นวิจารณ์ว่างเว้น         สดับฟัง
เว้นที่ถามอันยัง                ไป่รู้
เว้นเล่าลิขิตสัง-                 เกตว่าง เว้นนา
เว้นดั่งกล่าวว่าผู้                ปราชญ์ได้ฤามีฯ
   

๏ รู้น้อยว่ามากรู้                เริงใจ
กลกบเกิดอยู่ใน                 สระจ้อย
ไป่เห็นชเลไกล                 กลางสมุทร
ชมว่าน้ำบ่อน้อย                มากล้ำลึกเหลือฯ 


๏ เสียสินสงวนศักดิ์ไว้        วงศ์หงส์
เสียศักดิ์สู้ประสงค์              สิ่งรู้
เสียรู้เร่งดำรง                    ความสัตย์ ไว้นา
เสียสัตย์อย่าเสียสู้               ชีพม้วยมรณาฯ
     

๏ ตัดจันทน์ฟันม่วงไม้        จัมบก
แปลงปลูกหนามรามรก      รอบเรื้อ
ฆ่าหงส์มยุรนก                  กระเหว่า เสียนา
เลี้ยงหมู่กากินเนื้อ              ว่ารู้ลีลาฯ 
 
๏ น้ำเคี้ยวยูงว่าเงี้ยว            ยูงตาม
ทรายเหลือบหางยูงงาม        ว่าหญ้า
ตาทรายยิ่งนิลวาน              พรายเพริศ
ลิงว่าหวัวหวังหว้า               หว่าดิ้นโดดตามฯ
   

๏ พระสมุทรสุดลึกล้น          คณนา
สายดิ่งทิ้งทอดมา                หยั่งได้
เขาสูงอาจวัดวา                  กำหนด
จิตมนุษย์นี้ไซร้                  ยากแท้หยั่งถึงฯ 
 
๏ รักกันอยู่ขอบฟ้า              เขาเขียว
เสมออยู่หอแห่งเดียว           ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียว                ตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง         ป่าไม้มาบังฯ
   

๏ ให้ท่านท่านจักให้            ตอบสนอง
นบท่านท่านจักปอง            นอบไหว้
รักท่านท่านควรครอง         ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้                  แต่ผู้ทรชนฯ 
    
๏ แม้นมีความรู้ดั่ง             สัพพัญญู
ผิบ่มีคนชู                         ห่อนขึ้น
หัวแหวนค่าเมืองตรู           ตาโลก
ทองบ่รองรับพื้น                ห่อนแก้วมีศรีฯ 


๏ เจ็ดวันเว้นดีดซ้อม          ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                 เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า           อับเศร้าศรีหมองฯ 

๏ ใครจักผูกโลกแม้           รัดรึง
เหล็กเท่าลำตาลตรึง          ไป่หมั้น
มนตร์ยาผูกนานหึง           หายเสื่อม
ผูกเพื่อไมตรีนั้น               แน่นเท้าวันตายฯ
 

๏ ผจญคนมักโกรธด้วย     ไมตรี
ผจญหมู่ทรชนดี               ต่อตั้ง
ผจญคนจิตโลภมี              ทรัพย์เผื่อ แผ่นา
ผจญอสัตย์ให้ยั้ง               หยุดด้วยสัตยาฯ 
 
๏ คนใดคนหนึ่งผู้             ใจฉกรรจ์
เคียดฆ่าคนอนันต์             หนักแท้
ไป่ปานบุรุษอัน                ผจญจิต เองนา
เธียรท่านเยินยอแล้           ว่าผู้มีชัยฯ 

๏ ความรู้ดูยิ่งล้ำ               สินทรัพย์
คิดค่าควรเมืองนับ            ยิ่งไซร้
เพราะเหตุจักอยู่กับ           กายอาต มานา
โจรจักเบียนบ่ได้              เร่งรู้เรียนเอาฯ 
 
๏ คนใดโผงพูดโอ้            อึงดัง
อวดว่ากล้าอย่าฟัง            สัปปลี้
หมาเห่าเล่าอย่าหวัง          จักขบ ใครนา
สองเหล่าเขาหมู่นี้             ชาติเชื้อเดียวกันฯ
 

๏ โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง        เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา               ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา               หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น          เรื่องร้ายหายสูญฯ 

๏ ราชาธิราชน้อม            ในสัตย์
อำมาตย์เป็นบรรทัด         ถ่องแท้
ฝูงราษฎร์อยู่ศรีสวัสดิ์       ทุกเมื่อ
เมืองดั่งนี้เลิศแล้              ไพร่ฟ้าเปรมปรีดิ์ฯ
  

๏ คนใดละพ่อทั้ง             มารดา
อันทุพพลชรา                 ภาพแล้ว
ขับไล่ไม่มีปรา                นีเนตร
คนดั่งนี้ฤาแคล้ว              คลาดพ้นไภยันฯ 
 
๏ หอมกลิ่นดอกไม้ที่         นับถือ
หอมแต่ตามลมฤา            กลับย้อน
หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ      ศีลสัตย์ นี้นา
หอมสุดหอมสะท้อน         ทั่วใกล้ไกลถึงฯ
 

๏ ก้านบัวบอกลึกตื้น         ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน           ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน    ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ    บอกร้ายแสลงดินฯ 
 
๏ อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า     มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม            อกไข้
เด็ดแต่ดอกพยอม            ยามยาก ชมนา
สูงก็สอยด้วยไม้               อาจเอื้อมเอาถึงฯ


๏ เบิกทรัพย์วันละบาทซื้อ    มังสา
นายหนึ่งเลี้ยงพยัคฆา         ไป่อ้วน
สองสามสี่นายมา                กำกับ กันแฮ
บังทรัพย์สี่ส่วนถ้วน            บาทสิ้นเสือตายฯ 
      
๏ โคควายวายชีพได้         เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง              อยู่ไซร้
คนเด็ดดับสูญสัง              ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้           แต่ร้ายกับดีฯ
      

๏ ถึงจนทนสู้กัด                กินเกลือ
อย่าเที่ยวแล่เนื้อเถือ          พวกพ้อง
อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ       สงวนศักดิ์
โซก็เสาะใส่ท้อง               จับเนื้อกินเองฯ 
      
๏ บางคาบภาณุมาศขึ้น       ทางลง ก็ดี
บางคาบเมรุบ่ตรง              อ่อนแอ้
ไฟยมดับเย็นบง-               กชงอก ผานา
ยืนสัตย์สาธุชนแท้             ห่อนเพี้ยนสักปางฯ


๏ เพื่อนกิน สิ้นทรัพย์แล้ว   แหนงหนี
หาง่าย หลายหมื่นมี           มากได้
เพื่อนตาย ถ่ายแทนชี-       วาอาตม์
หากยาก ฝากผีไข้             ยากแท้จักหาฯ 

๏ อ่อนหวานมานมิตรล้น   เหลือหลาย
หยาบบ่มีเกลอกราย          เกลื่อนใกล้
ดุจดวงศศิฉาย                 ดาวดาษ ประดับนา
สุริยส่องดาราไร้               เมื่อร้อนแรงแสงฯ
 

๏ ยอข้ายอเมื่อแล้ว           การกิจ
ยอยกครูยอสนิท              ซึ่งหน้า
ยอญาติประยูรมิตร           เมื่อลับ หลังแฮ
คนหยิ่งแบกยศบ้า            อย่ายั้งยอควรฯ 
   
๏ พริกเผ็ดใครให้เผ็ด       ฉันใด
หนามย่อมแหลมเองใคร   เซี่ยมให้
จันทน์กฤษณาไฉน          ใครอบ หอมฤๅ
วงศ์แห่งนักปราชญ์ได้      เพราะด้วยฉลาดเองฯ 

 
๏ สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ     ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน           กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแก่ตนคน            เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ          ใส่ผู้บาปเองฯ 
 
๏ ใครจักผูกโลกแม้          รัดรึง
เหล็กเท่าลำตาลตรึง         ไป่หมั้น
มนต์ยาผูกนานหึง            หายเสื่อม
ผูกเพื่อไมตรีนั้น              แน่นเท้าวันตายฯ 
 


๏ ความเพียรเป็นอริแล้ว     เป็นมิตร
คร้านเกียจเป็นเพื่อนสนิท   ร่วมไร้
วิชาเฉกยาติด                   ขมขื่น
ประมาทเหมือนดับไต้        ชั่วร้ายฤๅเห็นฯ 
 
๏ เห็นใดจำให้แน่              นึกหมาย
ฟังใดอย่าฟังดาย               สดับหมั้น
ชนม์ยืนอย่าพึงวาย            ตรองตรึก ธรรมนา
สิ่งสดับทั้งนั้น                   ผิดเพี้ยนเป็นครูฯ 
 


๏ อย่าโทษไทท้าวท่วย       เทวา
อย่าโทษสถานภูผา            ย่านกว้าง
อย่าโทษหมู่วงศา              มิตรญาติ
โทษแต่กรรมเองสร้าง       ส่งให้เป็นเองฯ 
  
๏ โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง        เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา               ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา               หนักยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น          เรื่องร้ายหายสูญฯ
 

๏ เดินทางต่างเทศให้        พิจารณ์
อาสน์นั่งนอนอาหาร         อีกน้ำ
อดนอนอดบันดาล            ความโกรธ
ห้าสิ่งนี้คุณล้ำ                  เลิศล้วนควรถวิลฯ 
 
๏ เป็นคนคลาดเหย้าอย่า    เปล่ากาย
เงินสลึงติดชาย                ขอดไว้
เคหาอย่าสูญวาย              ข้าวเปลือก มีนา
เฉินฉุกขุกจักได้              ผ่อนเลี้ยงอาตมาฯ
      
 
๏ พายเถิดพ่ออย่ารั้ง         รอพาย
จวนตะวันจักสาย             ส่องฟ้า
ของสดสิ่งควรขาย           จักขาด ค่าแฮ
ตลาดเลิกแล้วอ้า              บ่นอื้นเอาใครฯ 
       
๏ ทรัพย์มีสี่ส่วนไซร้          ปูนปัน
ภาคหนึ่งพึงเกียดกัน          เก็บไว้
สองส่วนเบ็ดเสร็จสรรพ์      การกิจ ใช้นา
ยังอีกส่วนควรให้              จ่ายเลี้ยงตัวตนฯ
      
 
๏ ย่าขุดขอดท่านด้วย        วาจา
อย่าถากท่านด้วยตา          ติค้อน
ฟังคำกล่าวมฤษา             โสตหนึ่ง นะพ่อ
หยิบบ่ศัพท์กลับย้อน         โทษให้กับตนฯ
       
๏ กาน้ำดำดิ่งด้น             เอาปลา
กาบกคิดใคร่หา              เสพบ้าง
ลงดำส่ำมัจฉา                 ชลชาติ
สวะปะคอค้าง                 ครึ่งน้ำจำตายฯ
      
 
๏ ไปเรือนท่านไซร้อย่า    เนานาน
พูดแต่พอควรการ           กลับเหย้า
ริร่ำเรียนการงาน            เรือนอาต มานา
ยากเท่ายากอย่าเศร้า       เสื่อมสิ้นความเพียรฯ 
       
๏ เป็นคนคิดแล้วจึ่ง         เจรจา
อย่ามลนหลับตา              แต่ได้
เลือกสรรหมั่นปัญญา       ตรองตรึก
สติริรอบให้                    ถูกแล้วจึงทำฯ
      
 
๏ ปางน้อยสำเหนียกรู้       เรียนคุณ
ครั้นใหญ่ย่อมหาทุน         ทรัพย์ไว้
เมื่อกลางแก่แสวงบุญ       ธรรมชอบ
ยามหง่อมทำใดได้           แต่ล้วนอนิจจังฯ 
 
๏ คุณแม่หนาหนักเพี้ยง    พสุธา
คุณบิดรดุจอา-                กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา               เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง         อาจสู้สาครฯ 

 
๏ เย็นเงาพฤกษ์มิ่งไม้      สุขสบาย
เย็นญาติสุขสำราย          กว่าไม้
เย็นครูยิ่งพันฉาย           กษัตริย์ยิ่ง ครูนา
เย็นร่วมพระเจ้าให้         ร่มฟ้าดินบนฯ 
 
๏ วิชาควรรักรู้               ฤๅขาด
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์       ว่าน้อย
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ            มีมั่ง
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย          ชั่วลื้อเหลนหลานฯ 

 
๏ อย่าหมิ่นของเล็กนั้น     สี่สถาน
เล็กพริกพระกุมาร          จิดจ้อย
งูเล็กเท่าสายพาน            พิษยิ่ง
ไฟเล็กเท่าหิ่งห้อย           อย่าได้ดูแคลนฯ 





แหม...เรื่องอย่างนี้ล่ะเขียนคล่องเชียวนะ ไอ้กุ๊ก (ใช้เวลา 3 ชม. ถ้าเขียนงานได้เร็วอย่างนี้ก็ดีสิ :P)