17 ปี กรณีธรรมกาย

เคยคิดจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ... แต่ก็ระงับไว้ ตอนนี้ขอเหอะ อัดอั้นเต็มที
(ตรูจะโดนมั้ยฟระ?)

เมื่อวานเพิ่งดูหนังเรื่อง Big Hero 6 จบไป ทำให้นึกถึงการคิดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสูญเสียบุคลากรในด้านเทคโนโลยีขึ้นมา

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับกรณีธรรมกาย ... อ่านต่อไปเถอะค่ะ เกี่ยวแน่ๆ


>>> ตอนเล็กๆ ก่อนเข้า ป.1 (ประมาณปี 2525) พ่อซึ่งเป็นครูวิชาศีลธรรมได้พาเด็กนักเรียนไปตอบปัญหาทางก้าวหน้าซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาฯ เป็นประจำ (CU นะ ไม่ใช่ มจร.)
ตอนนั้นการอ่านเป็นความบันเทิงเพียงอย่างเดียวของเรา
รู้สึกว่าหนังสือที่ได้จากงานทางก้าวหน้ามันสนุกและอ่านง่ายมาก สำหรับเด็ก 6 ขวบ
กลายเป็นแฟนคลับหนังสือมงคลชีวิตฉบับทางก้าวหน้า นิทานชาดก ฯลฯ
(หนี้บุญคุณดอกที่หนึ่ง) <<<

สักพักมีข่าวอะไรไม่รู้ จำไม่ได้ บิดาเริ่มไม่พาเด็กไปและก็พูดถึงวัดอย่างรุนแรง

>>> มัธยมก็มีไปตอบปัญหาธรรมะเป็นประจำ หนึ่งในนั้นก็มีไปที่ธรรมกาย
เป็นครั้งแรกที่ได้มาวัดจริงๆ โคตรไกล LoL (ก่อนย้ายบ้านมาแถวนี้) ข้างในก็ดีเนอะ
ก็เป็นระเบียบดี...แต่เราไม่ชอบอะไรแบบนี้ มันร้อนมากกกก
เราชอบวัดที่ต้นไม้เยอะๆ หรือสถาปัตยกรรมสวยๆ มากกว่า
ดันได้รางวัลมาด้วย (หนี้บุญคุณดอกที่สอง) <<<

>>> มัธยมปลายมีโอกาสได้มาวัดอีกครั้ง แล้วก็ได้ฟังเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับวัด
เพิ่มขึ้น อิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกับวัดอื่น ทำไมเจ้าอาวาสต้องใส่แว่นดำ ฯลฯ ที่สำคัญจะใช้คำโน้มน้าวว่า นั่งสมาธิแล้วเรียนเก่งนะ ซึ่งมันก็ถูก...แต่ <<<

ช่วงปี 2540-41 ระดมทุนสร้างจานและพระรอบจานนะ ถ้าจำไม่ผิด
บางคนจะกันเงินเดือน 1/3 ไว้ทำบุญเลย สาธุ...นี่สำหรับคนที่พอมี
แต่สำหรับคนที่ไม่มี บางทีก็ยอมอดนะ และข้างในก็จะกล่อมคนด้วยเรื่องแนวนี้เสมอ
ทำแล้วได้อะไร ทำแล้วได้อะไร ไม่รวมการได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์นะ
บวกกับประเพณีที่ "เยอะ" กว่าเดิมจนเกินระดับปกติไปมากกกกกกกก

กรณีธรรมกายเริ่มส่อเค้ารุนแรงและเป็นข่าวดังมากช่วงปลายปี 2541
ทั้งเรื่องเงินและคำสอนที่ผิดเพี้ยน องค์กรภาครัฐเริ่มเข้าไปเกี่ยวข้อง
คำสอน "นิพพานเป็นอัตตา" ซึ่งบิดาบ่นหูชาทุกวัน

ถ้าจะเขียนประสบการณ์อย่างละเอียด อาจดูเป็นการไม่สำนึกบุญคุณ
จึงขอละไว้แต่เพียงเท่านี้

จะว่าไปแล้ว เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิดขึ้น แม้ในครั้งพุทธกาล
จึงมีคนทูลถามพระพุทธองค์เกี่ยวกับ การวินิจฉัยว่า
อย่างไรเป็นคำสอนของพระศาสดา อย่างไรไม่ใช่
ซึ่งมีการแสดงไว้อย่างน้อย 2 แห่งด้วยกัน ดังนี้ 

-อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สันธานวรรค ‪#‎สังขิตตสูตร‬-
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรโคตมี ท่านพึงรู้ธรรมเหล่าใดว่า ธรรมเหล่านี้เป็นไป
๐ เพื่อความกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด 
๐ เป็นไปเพื่อประกอบสัตว์ไว้ ไม่เป็นไปเพื่อพรากสัตว์ออก
๐ เป็นไปเพื่อสั่งสมกิเลส ไม่เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักมาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
๐ เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ ไม่เป็นไปเพื่อความสันโดษ
๐ เป็นไปเพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่เป็นไปเพื่อความสงัด
๐ เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ไม่เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
๐ เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงยาก ไม่เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย
ดูกรโคตมี ท่านพึงทรงจำไว้โดยส่วนหนึ่งว่า
"นี้ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัยไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ฯ"
-อังคุตตรนิกาย สันตกนิบาต ปัณณาสก์ ‪#‎วินัยวรรคที่‬ ๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
"ดูกรอุบาลี เธอพึงรู้ธรรมเหล่าใดแลว่า
๐ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นไป เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว
เธอพึงทรงธรรมเหล่านั้นไว้โดยส่วนหนึ่งว่า นี้ไม่ใช่ธรรม นี้ไม่ใช่วินัย นี้ไม่เป็นคำสั่งสอนของศาสดา"

หลังจากกรณีธรรมกายสงบลง มูลนิธิได้เชิญ พระมโน เมตตานันโท ในสมัยนั้น
มาเสวนาเรื่องศาสนา อาจารย์ (ศ.ดร.สมศักดิ์ ชูโต) เคยเปรยๆ ว่า
น่าจะทำเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจในศาสนา
สำหรับเรามองว่า มันอันตรายเกินไปและยากแก่การหาข้อมูล (อ.นิศาก็เห็นด้วยว่า ยาก)
แม้จะเป็นแค่การศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากองค์กรแห่งนี้
ก็ยังเป็นเรื่องยาก และมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องมากมาย ยากแก่การตีค่า
มามองคร่าวๆ กัน

1. วัดพระธรรมกายก่อตั้งในปี 2513 ตั้งแต่เป็นมูลนิธิ จนมาเป็นวัด ช่วงต้นมีการเผยแผ่ศาสนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ (นักเรียน นักศึกษาสมัยนั้น) ไม่นับรวม "บุญ" ที่ได้ แต่ละปีจะมีเด็กหรือผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก แต่...เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ "ใช้ทุน" อยู่กับธรรมกาย

2. มีผู้ที่ทุ่มเทกับการทำบุญด้วยเงิน และอื่นๆ มากมาย เพราะเชื่อกันว่า ที่ชาตินี้ตนเองแย่ ตนเองจนเพราะไม่ได้ทำบุญหรือทำบุญกับเนื้อนาบุญที่ไม่ดีพอ บางครั้งมีการอ้างถึงผู้มีอำนาจ ผู้ร่ำรวย ในสังคมหลายคนที่ได้ประโยชน์ หรือกลับร่ำรวยขึ้นมาอีกครั้งเมื่อไปทำบุญ ฯลฯ ซึ่งข่าวการสูญเสีย ทะเลาะเบาะแว้ง แตกแยกกันอันเนื่องมาจากการทำบุญมีให้เห็นตลอดมา ปัจจัยที่ได้ส่วนใหญ่ ใช้เป็นทรัพยากรขององค์กรในการเผยแผ่ต่อ เครื่องใช้ไม้สอยไฮเทคมากๆ ในวัด และ...
เราเคยคิดกันเล่นๆ มั้ยว่า เงินบริจาคเฉพาะองค์กรนี้เป็นกี่ % ของ GDP ? การทำบุญจัดเป็นแค่ Transfer payment? ประเทศตีความองค์กรทางศาสนาอยู่ในหมวดไหน?

3. ผู้ที่ศรัทธามากจนกระทั่งลาขาดชีวิตทางโลกเพื่อทุ่มเทการทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือบรรพชิตเทียบกับถ้าดำเนินชีวิตตามปกติจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
สมมติ
- บวช : เชิญชวนคนเข้าวัดได้ 16 ปี = xxx คน คิดเป็นเงินบริจาค/ทำบุญ xxx บาท + อื่นๆ ตามแต่จะคิดได้ ที่เป็นบุญใหญ่คงเพราะเป็นการสืบทอดศาสนา (ไม่รู้จะตีค่าตัวแปรนี้อย่างไร)
- ไม่บวช : เป็นอาจารย์ สอนคณะวิศวกรรม 16 ปี สมมติว่าภาคไฟฟ้าละกัน ลูกศิษย์อย่างน้อย 100คน/รุ่น (ตอนนี้ มธ.รับเยอะมั้ยอ่า??) ลูกศิษย์แต่ละคนที่จบประกอบอาชีพ เกิดรายได้ เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ประมาณ 12 ปี รายได้ของตัวเองนำไปใช้ต่อ, ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัย/สิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้นมา, ตำราที่เขียน ฯลฯ
(ตัวแปรเยอะจริงๆ)    

ยากเนอะ...ยากที่จะทำ...ยากที่จะเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง
คำว่า "ยาก" เยอะมากจริงๆ LoL ยากที่จะเขียนให้เป็นกลางด้วย


คำบอกเล่าของพระอดิศักดิ์ http://pantip.com/topic/33206456


ย้อนกลับมาเรื่อง Big Hero

ถ้าทาดาชิ ยังไม่ตาย ก็เช่นเดียวกับกรณีสมมติ ยังไม่บวช (ข้างต้น)
เราเชื่อว่าเค้าจะต้องสร้างหุ่นยนต์ดีๆ ที่ช่วยคนได้อย่างมากมาย 
พร้อมๆ ไปกับ Hiro และเด็กแสบใน lab nerd
  


(ไม่ลงรูปธรรมกายนะ คงไม่เหมาะกับสีกา)








1 comment:

Unknown said...

ชอบการเขียนแนวนี้ WOW อ่านเข้าใจง่าย และ ไม่เครียด อ่านสบายๆ